โครงการวิจัยศึกษาสุ่มเปรียบเทียบผลการให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด และผลแทรกซ้อนจากการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก ระหว่าง Ciprofloxacin กับ Cefixime ชนิดรับประทาน
ธัชชัย พิพิธพันธ์พิพิท, พิทักษ์ สันตนิรันดร์, วิสูตร คงเจริญสมบัติ*Division of Urology, Department of Surgery, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University 270, Rama VI Road, Ratchathewi, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2-2011315, Fax: +66-2-2011316; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด และผลแทรกซ้อนจากการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก ในผู้ป่วยที่ได้รับยา Ciprofloxacin (500 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน และผู้ป่วยที่ได้รับยา Cefixime (200 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน
วัสดุและวิธีการ : ศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 100 คนที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลรามาธิบดี มาแบ่งโดยใช้วิธีการสุ่มออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละเท่าๆ กัน ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาก่อนการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนักเป็น Ciprofloxacin (500 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ Cefixime (200 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจเพื่อเพาะเชื้อในกระแสเลือดภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก และนัดมาตรวจติดตามผลแทรกซ้อนจากการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนักภายใน 14 วัน
ผลการศึกษา : ผลการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value > 0.05) โดยพบผู้ป่วยร้อยละ 2 ในกลุ่มที่ได้รับ Cefixime (200 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน และไม่พบเลยในกลุ่มที่ได้รับ Ciprofloxacin (500 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน อาการแทรกซ้อนจากการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก ได้แก่ อุจจาระมีเลือดปน, ปัสสาวะมีเลือดปน, อสุจิมีเลือดปน, วิงเวียนศีรษะ, และปัสสาวะค้าง พบในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม โดยไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value > 0.05) ยกเว้นอาการปัสสาวะแสบขัดซึ่งพบเฉพาะกลุ่มที่ได้รับ Cefixime (200 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05)
สรุป : การใช้ยา Cefixime (200 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน ไม่สามารถลดการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หลังการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก และพบว่ามีอัตราการเกิดปัสสาวะแสบขัดสูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Ciprofloxacin (500 มิลลิกรัม) ชนิดรับประทาน ดังนั้นยากลุ่ม Quinolone-based ยังคงเป็นยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับให้ก่อนการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากผ่านอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, May
ปีที่: 100 ฉบับที่ 5 หน้า 528-532
คำสำคัญ
Antibiotic prophylaxis; transrectal prostatic biopsy; ciprofloxacin; cefixime; transient bacteremia