การศึกษาการป้องกันการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด โดยใช้การป้องกันแบบองค์รวม (multimodal antiemetic management) ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชวิทยาแบบผู้ปวยนอก
จตุพร ภักภิรมย์*, ธัญมน อสัมภินวัฒน์, กาญจนา นวนจัน, เอมอร วัฒนยมนาพรAnesthesiology Department, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkhla 90110,Thailand; Phone: +66-74-451651, mobile +66-88-7825728; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : ภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังการส่องกล้องเพื่อการผ่าตัดทางนรีเวชวิทยาพบได้บ่อยและเป็นสาเหตุให้จำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้ช้าในกรณีที่ผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ทางหน่วยงานวิสัญญีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้จัดทำแนวทางการป้องกันการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชวิทยาโดยใช้หลักการแบบองค์รวม
วัตถุประสงค์ : ศึกษาประสิทธิภาพของแนวทางดังกล่าวในการป้องกันการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัดแบบส่องกล้องทางนรีเวชวิทยาแบบผู้ป่วยนอก
วัสดุและวิธีการ : เป็นการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มใช้แนวทางการป้องกันการเกิดคลื่นไส้อาเจียนแบบองค์รวม (multimodal management) ผู้ป่วย 340 คนที่ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชวิทยาแบบผู้ป่วยนอกถูกเลือกเข้าการศึกษา ผู้ป่วยทุกรายถูกสุ่มเพื่อให้อยู่ในกลุ่มควบคุมหรือกลุ่มที่ใช้แนวทางป้องกัน การเกิดคลื่นไส้อาเจียนแบบองค์รวมภายใต้การระงับความรู้สึกตัวโดยใช้ก๊าซไอระเหย โดยกลุ่มควบคุมนำสลบด้วย thiopental และรักษาความลึกของการนำสลบด้วยก๊าซระเหยและไนตรัสออกไซด์ ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง นำสลบด้วย propofol และรักษาความลึกของการสลบด้วยก๊าซระเหยโดยไม่ใช้ไนตรัสออกไซด์ ผู้ป่วยทุกคนจะถูกประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียน และจะได้รับยาป้องกันการเกิดคลื่นไส้อาเจียนตามระดับความเสี่ยง โดยกลุ่มควบคุมอาจจะไม่ได้รับยาป้องกันหรือได้รับแค่ยา ondansetron ป้องกันการเกิดคลื่นไส้อาเจียน ส่วนกลุ่มทดลองผู้ป่วยจะได้รับยา ondansetron หรือร่วมกับ dexamethasone หรือร่วมกับ dimenhydrinate ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของการเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด อุบัติการณ์การเกิดคลื่นไส้อาเจียนและการต้องการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนที่ห้องพักฟื้นจะถูกบันทึก ความรุนแรงของการเกิดคลื่นไส้อาเจียนจะถูกเก็บข้อมูลทุก 30 นาที จนครบ 180 นาที และจะเก็บข้อมูลอีกครั้งที่ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดโดยการโทรศัพท์
ผลการศึกษา : ผู้ป่วย 166 คนในกลุ่มควบคุมและ 162 คนในกลุ่มทดลองได้ถูกนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความแตกต่าง ระหว่างกลุ่มพบว่าข้อมูลพื้นฐานระหว่างสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันใน อายุ น้ำหนัก ประวัติการมีภาวะคลื่นไส้อาเจียนชนิดของการผ่าตัด ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดและยาแก้ปวดที่ใช้ระหว่างและหลังการผ่าตัด การศึกษาครั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุมเกิดอุบัติการณ์ภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัดที่ห้องพักฟื้น (16.9% และ 8.0% ตามลำดับ p = 0.02) และที่ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด (16.3% และ 5.6% ตามลำดับ p < 0.01) มากกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมมีระดับความรุนแรงของการเกิดคลื่นไส้อาเจียนที่รุนแรงกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ 30, 60, 120 นาที (p = 0.01, 0.03 และ 0.04 ตามลำดับ) และ ที่ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด (p < 0.001) นอกจากนี้ผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมต้องใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนสูงกว่า กลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (19.9% และ 6.8% p < 0.001)
สรุป : การใช้แนวทางป้องกันการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนแบบองค์รวมมีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอุบัติการณ์การเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน, ความรุนแรงของการเกิดอาการ และลดการใช้ยารักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชวิทยาแบบผู้ป่วยนอกได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้วิธีการเดิม
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, May
ปีที่: 100 ฉบับที่ 5 หน้า 549-557
คำสำคัญ
Postoperative nausea and vomiting, AMBULATORY, multimodal antiemetics management, endoscopic surgery