ผลของการนวดกดจุดสะท้อนที่เท้าในการลดระดับความเจ็บปวดในระยะที่ 1 ของการคลอดในผู้คลอดครรภ์แรก
นิภาพรรณ มณีโชติวงศ์*, ปราณี ธีรโสภณ, สมจิตร เมืองพิล, ระริน จุลพันธ์, ศิริวรรณ สงจันทร์, ศิวพร ขุมหิรัญโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 6 จังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการนวดกดจุดสะท้อนที่เท้าต่อระดับความเจ็บปวดในระยะที่ 1 ของการคลอดในผู้คลอดครรภ์แรก ที่แผนกห้องคลอด ศูนย์อนามัยที่ 6 ขอนแก่น ปากมดลูกเปิดระหว่าง 1-4 เซนติเมตร สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 ราย กลุ่มทดลองได้รับการนวดกดจุดสะท้อนที่เท้าทั้ง 2 ข้างๆ ละ 15 นาที กลุ่มควบคุมได้รับการนวดหลอกแบบสัมผัสที่เท้าทั้ง 2 ข้างๆ ละ 15 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการคลอด และแบบประเมินระดับความเจ็บปวด ประเมินระดับความเจ็บปวดด้วยแผ่นวัดระดับความเจ็บปวดด้วยสายตา (visual analogue scale: VAS) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Mann Whitney U Test ผลการศึกษาพบว่า ระดับความเจ็บปวดก่อนการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเท่ากับ 9.78 คะแนน (±0.527) และ 9.76 คะแนน (±0.523) ตามลำดับ ระดับความเจ็บปวดของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) หลังการทดลอง ระดับความเจ็บปวดของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเท่ากับ 5.33 คะแนน (±1.79) และ 9.60 คะแนน (±0.507) ตามลำดับ ระดับความเจ็บปวดของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนชนิดของการคลอดของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน และไม่พบภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อมารดาและทารก ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการนวดกดจุดสะท้อนที่เท้าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดในระยะที่ 1 ของการคลอดได้อย่างปลอดภัย
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2560, March-April
ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 533-542
คำสำคัญ
Foot reflexology, ผู้คลอดครรภ์แรก, primiparous, การนวดกดจุดสะท้อนที่เท้า, first stage of labor, ระยะที่ 1 ของการคลอด