การจัดการกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และการรับรู้คุณภาพชีวิตของผู้รับบริการหญิงที่คลินิกนรีเวช
ลออง ผดุ้งกูล*, ศรีพงา มัณฑางกูร
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
               การวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการจัดการกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และระดับคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการหญิง คลินิกนรีเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 90 คน ใช้กรอบแนวคิดการจัดการกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ของ Wyman และคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน 1) ข้อมูลทั่วไป 2) ความรุนแรงอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 3) การจัดการอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และ 4) คุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาเพื่อหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
                ผลการวิจัย พบว่า การจัดการกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ของผู้รับบริการหญิง ส่วนใหญ่ ใช้วิธีการทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ โดยชำระล้าง และเช็ด ร้อยละ 96.67 วิธีการจัดการด้วยการเข้าห้องน้ำก่อนออกนอกบ้าน/ก่อนเดินทาง พบรองลงมา ร้อยละ 93.30 หลีกเลี่ยงควันบุหรี่/งดสูบบุหรี่ ร้อยละ 90.00 และพบแพทย์เมื่อเกิดปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ร้อยละ 86.67 ค่าเฉลี่ยของคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการหญิงที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยรวมและรายด้านทุกด้าน อยู่ในระดับปานกลาง (M = 87.56, SD = 9.76) ด้านสุขภาพกาย (M = 22.73, SD = 2.87) ด้านจิตใจ (M = 19.99, SD = 3.09) ด้านสัมพันธภาพทางสังคม (M = 9.92, SD = 1.76) และด้านสิ่งแวดล้อม (M = 28.43, SD = 4.18)
                ผลการวิจัยครั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการปฏิบัติการพยาบาล ด้านการจัดการกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการหญิงที่มารับการรักษาที่คลินิกนรีเวช
                                                                                                                             
 
ที่มา
วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปี 2560, January-March ปีที่: 37 ฉบับที่ 1 หน้า 75-83
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, urinary incontinence management; quality of life, การจัดการกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่