ผลของยาเด็กซ์เมดิโทมิดีนต่อการออกฤทธิ์เวโกลัยติกของยาแพนคูโรเนียมระหว่างการนำสลบด้วยยาโพรโพฟอล
วรวุธ ลาภพิเศษพันธุ์*, ตันหยง พิพานเมฆาภรณ์, เฉลิมเกียรติ ตรีสุทธาชีพ, กัญชนา วิเศษการ
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  ศึกษาผลของยาเด็กซ์เมดิโทมิดีน (Dexmedetomidine: Dex) ต่อการออกฤทธิ์เวโกลัยติกของ
ยาแพนคูโรเนียม และต่อการตอบสนองทางระบบไหลเวียนเลือดในระหว่างการนำสลบและใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดปกติ รวมถึงผลต่อฤทธิ์หย่อนกล้ามเนื้อของยาแพนคูโรเนียม
วิธีการศึกษา: ศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ 44 ราย ที่มีความดันเลือดและจังหวะการเต้นของหัวใจปกติ แบ่งผู้ป่วย
เป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 22 ราย กลุ่มควบคุม (group C) ได้รับน้ำเกลือนอร์มัล 20 มล. และกลุ่มศึกษา (group D)
ได้รับยา Dex ขนาด 0.7 มคก./กก. เจือจางเป็น 20 มล. หยดทางหลอดเลือดดำก่อนการนำสลบด้วยยาโพรโพฟอลร่วมกับยาแพนคูโรเนียมขนาด 0.12 มก./กก. และใส่ท่อช่วยหายใจหลังจากนั้น 2.5 นาที วัดความดัน
เลือดซีสโตลิก (systolic blood pressure: SBP) ความดันเลือดไดอาสโตลิก (diastolic blood pressure: DBP) ความดันเลือดแดงเฉลี่ย (mean arterial pressure: MAP) และอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate: HR) ณ เวลาก่อนและหลังให้ยาศึกษา หลังให้ยาแพนคูโรเนียม 2.5 นาที ทันทีหลังจากใส่ท่อช่วยหายใจและ
หลังจากนั้นอีก 5 ครั้งห่างกันครั้งละ 1 นาที (T0-T5) วัดความไวการออกฤทธิ์ (onset) และระยะเวลาการ
ออกฤทธิ์ (duration) ของยาแพนคูโรเนียมที่กล้ามเนื้อ adductor pollicis โดยเครื่อง TOF Watch
ผลการศึกษา: หลังได้รับยาแพนคูโรเนียม 2.5 นาที Group D มี HR ต่ำกว่า Group C (75.7±9.3 vs 88±12.9
ครั้งต่อนาที p=0.013) แต่ไม่ต่างจากค่าควบคุม หลังใส่ท่อช่วยหายใจ HR ที่ T0-T5 ในทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่าง
กัน ตลอดการศึกษา SBP, DBP และ MAP ในทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ใน group C ณ เวลาก่อนใส่ท่อช่วยหายใจ SBP ต่ำกว่าค่าพื้นฐาน (106.4±12.0 vs 121.0±13.9 มม.ปรอท p=0.001) ขณะใส่ท่อช่วยหายใจ
ร้อยละ 92.0 ของผู้ป่วยใน group D มี twitch height ของกล้ามเนื้อ adductor pollicis ที่น้อยกว่าร้อย 10
เปรียบเทียบกับร้อยละ 67.0 ของผู้ป่วยใน group C (p=0.048) ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาแพนคูโรเนียม
ในทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน
สรุปผลการศึกษา: ในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดปกติ การให้ยา Dex ขนาด 0.7 มคก./กก. หยดทางหลอดเลือด
ดำก่อนการนำสลบจะสามารถลดการออกฤทธิ์เวโกลัยติกของยาแพนคูโรเนียมในระหว่างการนำสลบด้วยยา
โพรโพฟอลก่อนการใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ไม่สามารถลดการตอบสนองของความดันเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นต่อการใส่ท่อช่วยหายใจ นอกจากนี้ Dex ยังทำให้ยาแพนคูโรเนียมออกฤทธิ์เร็วขึ้นแต่ไม่มีผลต่อระยะเวลาการออกฤทธิ์
 
ที่มา
เชียงใหม่เวชสาร ปี 2560, April-June ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 81-88
คำสำคัญ
Intubation, hemodynamic, Dexmedetomidine, pancuronium, vagolytic effect