การศึกษาประสิทธิภาพของการใช้นิโคตินชนิดแผ่นแปะผิวหนัง: ขณะผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่
วรรณวิภา มาลัยทอง, สิทธาพันธ์ มั่นชูพงศ์*Department of Anesthesiology, Phramongkutklao Hospital and College of Medicine, Bangkok 10400, Thailand; Phone & Fax: +66-2-3547768; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: การระงับปวดหลังผ่าตัดถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้ป่วยทุกรายจำเป็นต้องได้รับ ซึ่งการระงับปวดที่ดีจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการระงับปวดที่ไม่เพียงพอ โดยการศึกษาก่อนหน้าพบว่าการใช้นิโคตินสามารถลดอาการปวดหลังผ่าตัดได้ ซึ่งการศึกษาส่วนใหญ่นั้นทำศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับผ่าตัดเกี่ยวกับอวัยวะภายใน แต่ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของนิโคตินในการลดปวดหลังผ่าตัดชนิดที่ไม่เกี่ยวกับอวัยวะภายในมาก่อน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้นิโคตินชนิดแผ่นแปะผิวหนังในขณะผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัดชนิดเฉียบพลันในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาโดยการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมโดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการศึกษา 46 ราย อายุระหว่าง 18-65 ปี ที่ได้รับการระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย เพื่อการผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยการสุ่ม คือ กลุ่มทดลองจะเป็นกลุ่มที่ได้รับแผ่นแปะนิโคติน และกลุ่มควบคุมจะเป็นกลุ่มที่ได้แผ่นแปะหลอก โดยที่คะแนนความปวดและปริมาณยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยต้องการจะถูกบันทึกข้อมูลที่เวลา 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ใช้การวิเคราะห์แบบ unpaired t-test เพื่อหาความแตกต่างของประสิทธิภาพ การลดปวดระหว่างกลุ่มที่ใช้นิโคตินชนิดแผ่นแปะผิวหนัง และกลุ่มควบคุม โดยถือค่า p <0.05 มีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษา: ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่ได้แผ่นแปะนิโคตินและกลุ่มควบคุมทั้งระดับความปวดและปริมาณยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยต้องการ ที่เวลา 1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ในการการผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่
สรุป: การใช้แผ่นแปะนิโคตินขนาด 7 มิลลิกรัม ไม่สามารถช่วยลดคะแนนความปวดและปริมาณยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยต้องการในเวลา1 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้แผ่นแปะนิโคตินในการผ่าตัดส่องกล้องหัวไหล่
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, August
ปีที่: 100 ฉบับที่ 8 หน้า 901-906
คำสำคัญ
Multimodal analgesia, Postoperative pain control, Transdermal nicotine patch, Arthroscopic shoulder surgery