Dexamethasone และ Methylprednisolone ในการรักษาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทตาชนิด indirect
กิตติศักดิ์ กิจทวีสิน, ยศอนันต์ ยศไพบูลย์Department of Ophthalmology, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002, Thailand
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ prospective, randomized, double blind study เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา dexamethasone และ methylprednisolone ในการรักษาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทตาชนิด indirect ผู้ป่วยบาดเจ็บที่เส้นประสาทตาชนิด indirect จำนวน 21 ราย ซึ่งเข้ารับการรักษาภายใน 7 วันภายหลังประสบอุบัติเหตุ เป็นผู้ป่วยเพศชาย 20 ราย และเพศหญิง 1 ราย อายุเฉลี่ย 26.38 + 11.89 ปี โดยร้อยละ 71.43 เกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ พบการบาดเจ็บร่วมที่ศีรษะและกระดูกใบหน้าร้อยละ 43.48 และ 34.78 ตามลำดับ ก่อนการรักษาร้อยละ 19.05 ไม่สามารถมองเห็นแสง ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างให้ได้รับการรักษาด้วยยา dexamethasone 10 รายและ methylprednisolone 11 ราย ทางเส้นเลือดดำเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ประเมินระดับสายตาของผู้ป่วยโดยใช้ Snellen chart ก่อนการรักษา และภายหลังเริ่มรักษาที่ระยะเวลา 1, 2, 3, 7, 14, 30 และ 60 วัน ภายหลังได้รับการรักษา ผู้ป่วยมีระดับสายตาดีขึ้นตั้งแต่ 3 แถว Snellen chart ร้อยละ 70 และร้อยละ 66.67 ในกลุ่ม dexamethasone และร้อยละ 45.45 และร้อยละ 33.33 ในกลุ่ม methylprednisolone ที่ระยะเวลา 2 สัปดาห์และ 2 เดือนตามลำดับ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอายุ สาเหตุการบาดเจ็บ ระยะเวลาและระดับสายตาก่อนการรักษารวมถึงผลการรักษาระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม สรุปผลการศึกษานี้ ยา dexamethasone และ methylprednisolone มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันในการรักษาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทตาชนิด indirect
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2544, May
ปีที่: 84 ฉบับที่ 5 หน้า 628-634
คำสำคัญ
dexamethasone, Methylprednisolone, Traumatic Optic Neuropathy