การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการใช้ยาไมโสพรอสตอล ในรูปแบบการเหน็บทางช่องคลอดก่อนการให้ยาอมใต้ลิ้นเทียบกับการอมใต้ลิ้นเพียงอย่างเดียวในการยุติการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง
เกียรติศักดิ์ พรหมวังขวา, บุณยาพร พันธิตพงษ์, วัชรินทร์ เฉิดฉิ้ม, ปัญญา สนัั่นพานิชกุล*Department of Obstetrics and Gynecology, Prapokklao Hospital, Chanthaburi 22000, Thailand; Phone: +66-81-8623992; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราความสำเร็จของการยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาไมโสพรอสตอล ระหว่างรูปแบบการเหน็บทางช่องคลอดก่อนการให้ยาอมใต้ลิ้นเทียบกับการอมใต้ลิ้นเพียงอย่างเดียวที่ 24 และ 48 ชั่วโมง
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาโดยการทดลองและศึกษาไปข้างหน้ากลุ่มประชากรที่ศึกษาเป็นสตรีตั้งครรภ์เดี่ยว อายุครรภ์ 14-24 สัปดาห์ ที่มีข้อบ่งชี้และสมัครใจในการยุติการตั้งครรภ์ที่มารับบริการ ณ คลินิกฝากครรภ์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี โดยแบ่งที่ผู้ร่วมการศึกษาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มศึกษาได้รับการบริหารยาโดยการเหน็บยาไมโสพรอสตอลทางช่องคลอด ขนาด 800 ไมโครกรัม ตามด้วยการอมยาใต้ลิ้น ขนาด 400 ไมโครกรัม ใน 3 ชั่วโมงถัดมา และอีกทุก 3 ชั่วโมง จนกระทั่งสิ้นสุดการตั้งครรภ์ใน 24 ชั่วโมง กลุ่มควบคุมได้รับการบริหารยาไมโสพรอสตอลขนาด 400 ไมโครกรัม โดยการอมยาใต้ลิ้นทุก 3 ชั่วโมง จนกระทั่งสิ้นสุดการตั้งครรภ์ใน 24 ชั่วโมง (จำนวนครั้งการอมใต้ลิ้นของทั้งสองกลุ่มไม่เกิน 5 ครั้ง) หากไม่สำเร็จให้เริ่มการบริหารยาไมโสพรอสตอลขนาด 400 ไมโครกรัม ด้วยการอมใต้ลิ้นทุก 3 ชั่วโมง อีกรอบ และไม่เกิน 5 ครั้ง ถ้าไม่สามารถสิ้นสุดการตั้งครรภ์ในเวลา 24 ชั่วโมง ให้ถือเป็นความล้มเหลวของรูปแบบการบริหารยานั้น
ผลการศึกษา: กลุ่มประชากรที่ศึกษาจำนวน 50 คน อัตราความสำเร็จของการยุติการตั้งครรภ์ที่ 24 ชั่วโมง ระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม คิดเป็น 92% และ 64% (p-value 0.037) ระยะเวลาของการยุติการตั้งครรภ์ระหว่างกลุ่มคิดเป็น 8.17 และ 11.33 ชั่วโมง ตามลำดับ (p-value 0.087) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของผลข้างเคียงจากการใช้ยาไมโสพรอสตอล ผู้เข้าร่วมการศึกษามีความพึงพอใจต่อการบริหารยาทั้งสองรูปแบบอย่างเท่าเทียมกัน
สรุป: การยุติการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองด้วยการใช้ยาไมโสพรอสตอลเหน็บทางช่องคลอดก่อนการให้ยาอมใต้ลิ้น มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าการอมยาใต้ลิ้นเพียงอย่างเดียวที่ 24 ชั่วโมง
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, October
ปีที่: 100 ฉบับที่ 10 หน้า 1050-1055
คำสำคัญ
Misoprostol, Abortion, Termination of Pregnancy, Medical abortion, Cytotec