ประสิทธิผลของการนวดไทย การใช้ยาเถาวัลย์เปรียงและการใช้ยาไดโคลฟีแนคในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน โรงพยาบาลสอง
กฤติพงษ์ ทิพย์ลุ้ย, ชนัดดา ชาติสิงห์ทอง, นวพร ศิริวัฒนานุรักษ์, นิติมา สุวรรณกาศ*
งานแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลันส่วนใหญ่มักรักษาด้วยการใช้ยา กลุ่มต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตอรอยด์ ได้แก่ ยาไดโคลฟีแนคแต่การใช้ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง การรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย เช่น การนวดไทย การใช้ยาสมุนไพร ได้แก่ ยาเถาวัลย์เปรียง สามารถรักษาอาการปวดตามโครงสร้างกล้ามเนื้อได้ งานวิจัยครั้งนี้จึงศึกษาการเปรียบเทียบการรักษาแต่ละกลุ่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกแผนการรักษาผู้ป่วย
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการนวดแผนไทย การใช้ยาเถาวัลย์เปรียง และการใช้ยาไดโคลฟีแนคในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน
วิธีดำเนินการ: การศึกษาเชิงประสิทธิภาพของการรักษา รูปแบบ Single-blined randomized controlled trial ที่งานบริการผู้ป่วยนอกและคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลสอง ในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน ระหว่างเดือนเมษายน – ตุลาคม พ.ศ. 2558 จำนวน 42 คน สุ่มผู้ป่วยเข้ากลุ่มการรักษา 3 วิธี คือ กลุ่มที่ 1 การนวดไทย กลุ่มที่ 2 ยาเถาวัลย์เปรียง และกลุ่มที่ 3 ยาไดโคลฟีแนค เป็นเวลา 7 วัน เท่ากัน มีวิธีการวัดผลโดย สอบถามข้อมูลทั่วไป สาเหตุ ระยะเวลาที่มีอาการปวดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบข้อมูล 3 กลุ่ม ด้วย exact probability test  หรือ ANOVA และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงระดับควมเจ็บปวด (pain score) ด้วยสถิติ regression หลายระดับ
ผลการศึกษา: การรักษาทั้ง 3 วิธี ลดความปวดก่อนรักษาลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดอาการปวดของการรักษาทั้ง 3 วิธีแล้ว การรักษาด้วยการนวดไทยมีประสิทธิผลดีกว่าเถาวัลย์เปรียง (p<0.001) และดีกว่าไดโคลฟีแนค (p=0.002) โดยลดระดับความเจ็บปวดได้เร็วที่สุด (ระดับความเจ็บปวดที่ลดลง = 0.43) ส่วนการรักษาด้วยการใช้ยาเถาวัลย์เปรียงและยาไดโครฟีแนค ให้ประสิทธิผลการลดอาการปวดได้ไม่แตกต่างกัน (p = 0.493)
ลักษณะ
นวดแผนไทย
(n = 17)
เถาวัลย์เปรียง
(n = 13)
ไดโคฟีแนค
(n = 12)
ระดับความเจ็บปวดที่ลดลง
-0.43
-0.31
-0.33
95% CI
-0.49-0.38
-0.37-0.24
-0.4-0.27
p-value (เปรียบเทียบก่อน-หลังการรักษา)
<0.001
<0.001
<0.001
p-value (เปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษาระหว่างกลุ่ม)
<0.001
 
 
0.002
 
0.493
 
 
ข้อสรุป: การนวดไทยมีประสิทธิผลในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันได้เร็วกว่าและดีกว่า ส่วนการรักษาด้วยการใช้ยาเถาวัลย์เปรียงและยาไดโครฟีแนคให้ผลการลดความเจ็บปวดได้ไม่แตกต่างกัน
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2559, May-August ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 Suppl หน้า 23