การศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกของยาประสะไพลแคปซูลต่อการฟื้นฟูสตรีหลังคลอด ในโรงพยาบาลบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ชายศักดิ์ ถนนแก้ว*, เลิศชัย จิตต์เสรี, สุวรรณา พาหุสัจจะลักษณ์, สุทิมา ศุกรีเขตร, จิราภรณ์ ม่วงพรวน, Supaporn Pornpinatepongม ปิลันธนา เลิศสถิตธนกร, บรรลือ สังข์ทอง
โรงพยาบาลบางปะอิน
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: โรงพยาบาลบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการใช้ยาประสะไพลแคปซูลร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการฟื้นฟูสตรีหลังคลอด เนื่องจากยาประสะไพลเป็นตำรับยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีลักษณะเป็นยาที่มีรสร้อน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น น้ำนมไหลดี ช่วยขับโลหิตเสียออกจากร่างกาย โดยเริ่มมีการใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 คณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกของยาประสะไพลแคปซูลต่อการฟื้นฟูสตรีหลังคลอด ในโรงพยาบาลบางปะอิน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกของยาประสะไพลแคปซูล ต่อการลดระดับของยอดมดลูก การเปลี่ยนแปลงของเสียและปริมาณน้ำคาวปลา ในกลุ่มสตรีหลังคลอดของโรงพยาบาลบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วิธีดำเนินการ: เป็นการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเข้ากลุ่มทั้งหมดชนิดปกปิดสองฝ่าย โดยได้รับสารเลียนแบบไม่ออกฤทธิ์และยาประสะไพล ทำการศึกษาในอาสาสมัครสตรีหลังคลอดช่วงอายุ 20-35 ปี ที่ผ่านการคลอดปกติทางช่องคลอด จำนวน 60 ราย  อาสาสมัครทุกคนได้รับยาแผนปัจจุบันสำหรับสตรีหลังคลอดตามปกติ และให้ยาเพิ่มแก่อาสาสมัครด้วยวิธีการสุ่ม โดยกลุ่มแรกได้รับยาประสะไพลแคปซูล และกลุ่มที่สองได้รับยาหลอก (สารเลียนแบบไม่ออกฤทธิ์) ทำการเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครเป็นเวลา 10 วันหลังจากรับยา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบบันทึกการวัดระดับยอดมดลูก 2) แบบประเมินสีและปริมาณของน้ำคาวปลา จากนั้นทำการเก็บข้อมูลและทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยืนยันประสิทธิผลของยาประสะไพล
ผลการศึกษา: พบว่าการลดลงของระดับยอดมดลูกในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มในระยะเวลา 10 วัน ไม่แตกต่างกัน (p>0.05) ด้านสีและความเข้มของน้ำคาวปลา พบว่าในกลุ่มของผู้ที่ได้รับยาประสะไพลมีสีน้ำคาวปลาอ่อนกว่ากลุ่มที่รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเริ่มเห็นความแตกต่างในวันที่ 2 หลังคลอด (p<0.05) และมีความแตกต่างกันมากที่สุดในวันที่ 2 (29.50%) และวันที่ 3 (29.20%) หลังคลอดตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบสีน้ำคาวปลาในวันแรก ส่วนในด้านปริมาณของน้ำคาวปลา พบว่าในกลุ่มของผู้ที่ได้รับยาประสะไพลมีปริมาณน้ำคาวปลามากกว่ากลุ่มที่รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในวันที่ 2 ถึงวันที่ 6 หลังคลอด (p<0.05) และมีความแตกต่างมากที่สุดในวันที่ 5 (26.60%) หลังคลอด เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำคาวปลาในวันแรก แต่ในวันที่ 7 ถึงวันที่ 10 หลังคลอด ปริมาณน้ำคาวปลาของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน (p>0.05)
สรุปผล: ยาประสะไพลแคปซูลไม่มีผลต่อการลดระดับมดลูกของสตรีหลังคลอด กล่าวคือ ไม่มีผลช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น แต่มีผลต่อสีของน้ำคาวปลาและมีประสิทธิภาพในการขับน้ำคาวปลาอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก จึงควรจะส่งเสริมให้มีการใช้ยาประสะไพลร่วมกับยาแผนปัจจุบันเพื่อฟื้นฟูสตรีหลังคลอดให้มากยิ่งขึ้น
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2559, May-August ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 Suppl หน้า 34