การเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาจันทน์ลีลากับยาพาราเซตามอล ในการลดอาการไข้หวัด
จรัสศรี บุญคงทอง
สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: การเกิดไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้โดยทั่วไป เมื่อมีอาการไข้ สิ่งหนึ่งที่หลายคนนิยมใช้ คือ ยาพาราเซตามอล ซึ่งถ้าใช้เกินขนาดก็อาจมีพิษต่อตับ  ถึงตายได้ ปัจจุบันมีการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร โดยใช้ตำรับยาจันทน์แก้ไข้ ต้านการอักเสบ และแก้ปวด และไม่พบพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง (นพมาศ สุนทรเจิรญนนท์ และนงลักษณ์ เรืองวิเศษ, 2551) ดังนั้นผู้วิจัยจึงทำการศึกษาประสิทธิผลของยาจันทน์ลีลาเปรียบเทียบกับยาพาราเซตามอลในการลดอาการไข้หวัด เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลทางคลินิกในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยา และลดอัตราการใช้ยาแผนปัจจุบันต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาจันทน์ลีลากับพาราเซตามอลในการลดอาการไข้หวัด
วิธีดำเนินการ: การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) แบบ Randomized control trial มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดอาการไข้หวัดของยาจันทน์ลีลาและยาพาราเซตามอล ประชากรที่ใช้ คือ ผู้ป่วยนอกที่มีอาการไข้หวัด ที่มารับบริการ ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ เฝ้าไร่ อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ผู้ศึกษาได้เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้เกณฑ์ในการคัดเข้า (Inclusion Criteria) เกณฑ์ในการคัดออก (Exclusion Criteria) และเกณฑ์การใช้เลิกจากการศึกษา (Discontinuation Criteria) จำนวน 76 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยาจันทน์ลีลา (ร.พ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี: GMP) และกลุ่มได้รับยาพาราเซตามอล เก็บรวบรวมข้อมูลหลังจากได้รับการอนุมัติจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายเรียบร้อยแล้ว ระหว่างวันที่ 18 เมษายน 2559 ถึง วันที่ 13 มิถุนายน 2559 โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลอุณหภูมิร่างกาย นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ การแจกแจงความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และสถิติอนุมาน ได้แก่ paired t-test และ Unpaired t-test โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษา: พบว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนอุณหภูมิก่อนและหลังการรักษาด้วยยาจันทน์ลีลาและยาพาราเซตามอลของผู้ป่วยแต่ละรายในกลุ่มเดียวกัน พบว่า ยาจันทน์ลีลาสามารถลดการไข้หวัด และลดอาการที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เช่นเดียวกับยาพาราเซตามอล (p<0.001) และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนอุณหภูมิระหว่างกลุ่ม พบว่า การใช้ยาจันทน์ลีลาและยาพาราเซตามอลในช่วงระยะเวลาวันที่หนึ่งและวันที่สองไม่มีความแตกต่างกัน และพบว่าในวันที่สามมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และภาวะแทรกซ้อนหลังการใช้ยาจันทน์ลีลา
ข้อสรุป: การใช้ยาจันทน์ลีลาสามารถลดอาการไข้หวัด และลดอาการที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)  และการใช้ยาจันทน์ลีลาและยาพาราเซตามอลไม่มีความแตกต่างกัน โดยไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และภาวะแทรกซ้อนหลังการใช้ยาจันทน์ลีลา
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560, May-August ปีที่: 15 ฉบับที่ 2 Suppl หน้า 31