การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการนวดไทยแบบราชสำนักกับไดโคฟีแนกเจลต่อการใช้งานของไหล่และความสามารถของแขนในผู้ป่วยไหล่ติด
พวงผกา ตันกิจจานนท์, ชนิดา พลานุเวช*, Nijsiri Ruangrungsiวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10330
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการนวดไทยแบบราชสำนักกับไดโคฟีแนกเจล ต่อการใช้งานของไหล่และความสามารถของแขนในผู้ป่วยไหล่ติด รูปแบบการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก เลือกประชากรโดยการสุ่มจำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน กลุ่มควบคุม 30 คน กลุ่มทดลองรักษาโดยการนวดแบบราชสำนักสัปดาห์ละ 2 ครั้งติดต่อกัน 6 สัปดาห์ กลุ่มควบคุมรักษาโดยการทาไดโคฟิแนกเจล ทาครั้งละ 5 กรัม 3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 6 สัปดาห์ ติดตามผลทั้งสองกลุ่มสัปดาห์ที่ 8
และ 10 ประเมินผลการรักษาโดยแบบประเมินความสามารถของแขนในการทำกิจกรรม (DASH) แบบประเมินการทำงานของไหล่ (Function of shoulder) ก่อนและหลังการทดลอง ผลการทดลองพบว่า ทั้งด้านการใช้งานของไหล่และความสามารถของแขนก่อนและหลังการทดลองภายในกลุ่มของทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.0001) แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่ามีความแตกต่างแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่าการนวดไทยแบบราชสำนักและไดโคฟิแนกเจลต่างก็ให้ผลดีในการรักษาไหล่ติด เห็นได้จากผลของระดับการใช้งานของไหล่และความสามารถของแขนในการ
ทำกิจกรรมในผู้ป่วยไหล่ติดได้ผลดีขึ้นเหมือนกัน
ที่มา
วารสารพยาบาลทหารบก ปี 2560, May-August
ปีที่: 18 ฉบับที่ Suppl หน้า 32-40
คำสำคัญ
Frozen shoulder, นวดไทยแบบราชสำนัก, court-type traditional Thai massage, function assessment, ability of arm, diclofenac gel, ไหล่ติด, การใช้งานของไหล่, ความสามารถของแขน, ไดโคฟิแนกเจล