การศึกษาเปรียบเทียบผลการผ่าตัดผู้ป่วยไส้เลื่อนขาหนีบด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่และการให้ยาชาทางช่องไขสันหลัง: การทดลองแบบสุ่ม
เอกชัย ผดุงภักดีวงศ์โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อีเมล:[email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความปวดแผลผ่าตัด ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด จำนวนวันนอน ค่ารักษาในโรงพยาบาล การใช้ยาฉีดแก้ปวด ภาวะแทรกซ้อน ระดับความพึงพอใจ ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบโดยการให้ยาชาทางไขสันหลังกับการฉีดยาชาเฉพาะที่
วิธีดำเนินการวิจัย: เป็นการวิจัยทดลองโดยทำการสุ่มเลือกผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบ ในหอผู้ป่วยใน ศัลยกรรม โรงพยาบาลลาดกระบัง เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้ยาชาทางช่องไขสันหลังกับการฉีดยาชาเฉพาะที่ กลุ่มละ 35 ราย ทั้งสองกลุ่มได้รับการผ่าตัดแบบไร้แรงตึง เก็บข้อมูลระดับความปวดแผลผ่าตัดในขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัดที่ 6 และ 12 ชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด จำนวนวันนอน ค่ารักษาในโรงพยาบาล การใช้ ยาฉีดแก้ปวด ภาวะแทรกซ้อน ระดับความพึงพอใจ
ผลการวิจัย: พบว่าสามารถทำการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบได้สำเร็จทั้งสองกลุ่มโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษา กลุ่มที่ได้รับการให้ยาชาทางช่องไขสันหลังมีระดับความเจ็บปวดในขณะผ่าตัดเป็น 0 ± 0 และกลุ่มที่ได้รับการ ให้ยาชาเฉพาะที่มีระดับความเจ็บปวดเป็น 1.23 ± 0.69 ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการให้ยาชาทางช่องไขสันหลัง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด การฉีดยาชาเฉพาะที่ มีความได้เปรียบกว่าในด้านของระยะเวลาทั้งหมดในห้องผ่าตัด การใช้ยาฉีดแก้ปวด และค่ารักษาใน โรงพยาบาลที่น้อยกว่า โดยมีความพึงพอใจที่มากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
สรุป: การผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบโดยการระงับความรู้สึกทั้ง 2 วิธี แม้ว่าจะมีระดับความปวดที่แตกต่างกันอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่ไม่มีผลต่อความสำเร็จในการผ่าตัด การฉีดยาชาเฉพาะที่มีข้อดีกว่าในด้าน เวลา การใช้ยาแก้ปวด ค่ารักษาและความพึงพอใจของผู้ป่วยและอาจพิจารณาเป็นวิธีเลือกแรกในการผ่าตัด ไส้เลื่อนขาหนีบ
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2559, October-December
ปีที่: 60 ฉบับที่ 4 หน้า 269-275
คำสำคัญ
Local anesthesia, tension-free herniorrhaphy, operative pain