ผลของการลดระยะเวลานอนพักบนเตียงต่อระดับความปวดหลังและภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับ
สุธิสา เต็มทับ*, รุ่งทิพย์ อุดมวิเศษสันต์, กิตติกร นิลมานัต
ฝ่ายบริการพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
 วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการลดระยะเวลานอนพักบนเตียงต่อความปวดหลังและภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดในผู้ป่วยมะเร็งตับที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับ
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยทดลองแบบมีการสุ่มเข้ากลุ่ม ชนิด 2 กลุ่ม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยมะเร็งตับที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับ (transcatheter arterial chemoembolization; TACE) ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2558-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จำนวน 54 ราย โดยกลุ่มตัวอย่างจะถูกสุ่มเข้ากลุ่มควบคุมให้นอนพักบนเตียง 6 ชั่วโมง หรือกลุ่มทดลองให้นอนพักบนเตียง 3 ชั่วโมง หลังทำ TACE ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินระดับความปวดหลังด้วยแบบประเมินระดับความปวดชนิดมาตรวัดตัวเลข (Numerical Rating Scale) และประเมินภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดโดยใช้เครื่องมือ Hematoma Formation and Bleeding Scale วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติการทดสอบไคสแควร์ และ Mann-Whitney U-test
ผลการศึกษา: กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดหลังน้อยกว่ากลุ่มควบคุมในชั่วโมงที่ 6 และ 8 หลังทำTACE อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ (p-value<0.000) โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: การลดระยะเวลานอนพักบนเตียงหลังทำTACE จาก 6 ชั่วโมง เหลือ 3 ชั่วโมง สามารถช่วยลดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลังของผู้ป่วยมะเร็งตับที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธี TACE โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือด
 
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2560, July-September ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 239-253
คำสำคัญ
Hepatocellular carcinoma, Transcatheter arterial chemoembolization, Back pain, มะเร็งตับ, bed rest time, vascular complication, ความปวดหลัง, ภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือด, ยาเคมีบำบัดร่วมกับการอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งตับ, เวลานอนพักบนเตียง