การเปรียบเทียบผลการรักษาในด้านการสบฟันระหว่างการรักษาด้วยวิธีจัดกระดูกแบบปิดและการเปิดผ่าตัดกระดูกขากรรไกรหักบริเวณ condyle ข้างเดียว
คชา อริยะธุกันต์, กฤษณ์ ขวัญเงิน, ภัทริยาภรณ์ บุญญวงศ์, วิมล ศิริมหาราช*
Department of Surgery, Faculty of Medicine,Chiang Mai University, Chiang Mai 50200 Thailand. E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการสบฟัน ผลการผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อน ระหว่างวิธีการรักษาแบบมัดฟันอย่างเดียวกับการเปิดผ่าตัดตรงตำแหน่งที่หักในผู้ป่วยกระดูกขากรรไกรหักบริเวณ condyle ข้างเดียว
ผู้ป่วยและวิธีการ: ทำการศึกษาในผู้ป่วยกระดูกขากรรไกรหักบริเวณ condyle ข้างเดียว (neck หรือ subcondyle) จำนวน 20 ราย ผู้ป่วยถูกแบ่งแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ได้รับการจัดกระดูกให้เข้าที่โดยไม่ผ่าตัดและมัดฟันอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ได้รับการผ่าตัดจัดกระดูกบริเวณที่หักร่วมกับการยึดกระดูกและมัดฟันทั้ง 2 กลุ่มได้รับการติดตามผลเป็นเวลา 3 เดือน
ผลการศึกษา: ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างวิธีการรักษาแบบเปิดและแบบปิดในแง่ของการสบ
ฟัน ระยะระหว่างฟันหน้าขณะอ้าปากเต็มที่ อาการปวดของข้อต่อกระดูกกราม เสียงผิดปกติในข้อต่อกระดูก
กราม และระยะเวลานอนโรงพยาบาล แต่กลุ่มที่ 2 ให้ผลที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในแง่ของความเอียงของคางขณะอ้าปาก ส่วนกลุ่มที่ 1 มีระยะเวลาการทำหัตถการสั้นกว่าและคะแนนความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่มที่ 2 นอกจากนี้ในกลุ่มที่ 2 ไม่พบการบาดเจ็บอย่างถาวรของเส้นประสาทเลี้ยงใบหน้า หรือรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดที่เห็นได้ชัด
สรุป: ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างวิธีการรักษาทั้ง 2 แบบในแง่ของการสบฟัน ส่วนการเปิดผ่าตัดให้ผลการรักษาที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในแง่ของการความเอียงของคางขณะอ้าปาก เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการรักษาแบบปิด
 
 
ที่มา
เชียงใหม่เวชสาร ปี 2560, October-December ปีที่: 56 ฉบับที่ 4 หน้า 203-211
คำสำคัญ
unilateral mandibular condylar fracture, mandibular fracture, กระดูกขากรรไกรหักบริเวณ condyle ข้างเดียว, กระดูกขากรรไกรหัก