การศึกษา ต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรมตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดที่มีปัจจัยเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยิน
ภาวินี อินทกรณ์*, อนงค์ สุขโข, นภัสวรรณ ยอดทอง
กลุ่มงานโสด ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
การได้ยินเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษา หากเด็กมีปัญหาสูญเสียการได้ยินตั้งแต่เด็กจะทำให้เกิดความพิการในด้านการสื่อความหมาย ผู้ศึกษามีความประสงค์ในการศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรมการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน โดยศึกษาในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ ประชากรที่ศึกษาคือทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินที่เข้ามารับบริการที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ขั้นตอนการศึกษาโดยใช้แผนภูมิการตัดสินใจ (Decision tree) และนำข้อมูลค่าใช้จ่ายมาวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ ในแต่ละโปรแกรมการตรวจการได้ยินที่กำหนด ผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของโปรแกรมการตรวจการได้ยินในทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 10,000 ราย พบว่าการตรวจด้วยวิธี one stage สามารถตรวจคัดกรองและพบว่ามีภาวะสูญเสียการได้ยินได้ 2,242 ราย และวิธี two stage สามารถตรวจคัดกรองและพบว่า มีภาวะสูญเสียการได้ยิน 2,138 ราย และในกรณีที่ไม่ได้คัดกรองการได้ยินจะพบว่ามีภาวะสูญเสียการได้ยิน 1,500 ราย การวิเคราะห์ต้นทุนรวมการคัดกรองด้วยวิธี one stage มีจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,317,544.68 บาท ในขณะที่ต้นทุนรวมการคัดกรองด้วยวิธี two stage มีจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,245,355.70 บาท อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อจำนวนที่คัดกรองโดยเมื่อเปรียบเทียบวิธี one stage กับ two stage คิดเป็นจำนวนเงิน 694.12 บาทต่อการคัดกรอง 1 ราย และอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อจำนวนที่คัดกรองโดยเมื่อเปรียบเทียบวิธี one stage กับการไม่คัดกรองคิดเป็นจำนวนเงิน 3,123.38 บาทต่อการคัดกอง 1 ราย การวิเคราะห์ความไวของตัวแปร สำหรับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี one stage พบว่าค่าความชุกของภาวะสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดมีผลต่อต้นทุนประสิทธิผลของการคัดกรองด้วยวิธี one stage สรุปการศึกษานี้พบว่า การคัดกรองวิธี one stage ใช้ต้นทุนที่สูง แต่มีประสิทธิผลที่สูงและคุ้มค่าในการจ่ายเพิ่มเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียการได้ยิน
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2561, May-June ปีที่: 43 ฉบับที่ 3 หน้า 73-78
คำสำคัญ
Otoacoustic emission (OAE), Automated auditory brainstem response (AABR), Conventional auditory brainstem response (CABR), Auditory steady state response (ASSR), เครื่องตรวจอัตโนมัติด้วยการวัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน, เครื่องตรวจการได้ยินระดับก้านสมองแบบอัตโนมัติ, เครื่องตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง