เปรียบเทียบปริมาณการเสียเลือดในการผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ในกลุ่มที่ได้รับการดมยาสลบด้วย Propofol กับ Dexmedetomidine เทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Desflurane
ณิชาวรรณ วิรัชพิสิฐ, ทศพร วิศุภกาญจน์, อภิรัก เกตุฉันท์, โรจนรินทร์ โกมลหิรัญ, ศศิมา ดุสิตเกษม*ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนำ: การเสียเลือดมากระหว่างการทำผ่าตัดโพรงจมูก และไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ทำให้การผ่าตัดทำได้ยากและเกิดภาวะแทรกซ้อน วิธีการดมยาสลบเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปริมาณการเสียเลือด อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปวิธีการให้ยาระงับความรู้สึกที่ดีที่สุด สำหรับการทำผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปริมาณการเสียเลือดในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดโพรงจมูก และไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคประหว่างกลุ่มที่ดมยาสลบชนิดไอระเหยด้วย desflurane กับการให้ยาสลบทางหลอดเลือดดำด้วยยา propofol และ dexmedetomidine
วิธีการศึกษา: การศึกษาไปข้างหน้า แบบสุ่ม ในผู้ป่วย 40 ราย ที่เข้ารับการผ่าตัดโพรงจมูก และไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคปแบบไม่เร่งด่วน แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีการสุ่มด้วยคอมพิวเตอร์ กลุ่มที่ 1 ได้รับยาดมสลบด้วย desflurane (20 ราย) กลุ่มที่ 2 ได้รับยาสลบทางหลอดเลือดดำด้วย propofol และ ยา dexmedetomidine รักษาระดับความดันโลหิตเฉลี่ย (MAP) 65-75 มม.ปรอท แพทย์ผ่าตัดประเมินการ
มองเห็นระหว่างผ่าตัด ให้คะแนน 1-10 ผลการศึกษาหลัก คือ ปริมาณการเสียเลือด และคะแนนการมองเห็นระหว่างผ่าตัดผลการศึกษารองคือ คะแนนความปวดที่ห้องพักฟื้น และหอผู้ป่วย
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา ทั้งหมด 40 ราย มีผู้ป่วย 1 รายในกลุ่มที่ได้ยา propofol และ dexmedetomidine ถูกตัดออกจากการศึกษา เนื่องจากมีหอบหืดกำเริบเฉียบพลันข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ปริมาณการเสียเลือด และการมองเห็นของแพทย์ผ่าตัดไม่ต่างกันคะแนนความปวดในห้องพักฟื้นและหอผู้ป่วยไม่แตกต่างกัน
สรุป: การศึกษานี้ไม่สามารถแสดงผลของยา propofol และ dexmedetomidine ในการลดอัตราการเสียเลือดในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคปการเลือกใช้เทคนิคระงับความรู้สึกแบบใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจระหว่างแพทย์ที่ทำการผ่าตัด และวิสัญญีแพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด โดยประเมินจากความเสี่ยงของการผ่าตัดความเสี่ยงของการดมยาสลบ และความเสี่ยงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2561, July-September
ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 91-97
คำสำคัญ
Blood loss, ปริมาณการเสียเลือด, Total intravenous anesthesia, Endoscopic sinus surgery, การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสผ่านกล้องเอ็นโดสโคป, การให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ