ประสิทธิผลการระงับปวดหลังผ่าตัดในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเปรียบเทียบระหว่างการฉีดยา ในข้อเข่าและเนื้อเยื่อกับการฉีดยาชาที่เส้นประสาท Femoral หลังการระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วนโดยการฉีดยาชาร่วมกับยามอร์ฟีนเข้าช่องน้ำไขสันหลัง
หัชพร เขียวบ้างยาง*, สตบงกช ทั่งทอง, วิทยา ประทินทอง
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลพิจิตร ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนำ: ประสิทธิภาพของการฉีดยาในข้อเข่า (LIA) และเนื้อเยื่อกับการฉีดยาชาที่เส้นประสาท femoral (FNB) เพื่อระงับปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมยังไม่มีข้อสรุปว่าวิธีใดดีกว่ากัน งานวิจัยนี้เป็นการเปรียบเทียบประสิทธิผลในแง่การระงับปวดระหว่าง FNB และ LIA
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ prospective randomized controlled trial ในผู้ป่วย ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าตามตารางนัดหมาย 40 คน ได้รับวิธีการระงับความรู้สึกโดยฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีน 0.2 มิลลิกรัมเข้าช่องน้ำไขสันหลังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน โดยกลุ่มที่ 1[FNB]: ได้รับการทำ FNB ด้วยยาชา levobupivacaine 2 มก./กก. กลุ่มที่ 2 [LIA]: ได้รับยาชา levobupivacaine 2 มก./กก., ketorolac 30 มก., adrenaline 0.5 มก., NSS ปริมาตรรวม 120 มล. ฉีดบริเวณรอบข้อเข่า เก็บข้อมูลปริมาณยา tramadol คะแนนความปวดหลังการผ่าตัดในเวลา 24 ชั่วโมง
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยของปริมาณยา tramadol หลังการผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรกของผู้ป่วยในกลุ่ม LIA น้อยกว่ากลุ่ม FNB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (37.50 มก. และ 77.50 มก.;  p = 0.001) ค่าเฉลี่ยเวลาที่ได้รับยาแก้ปวดครั้งแรกของกลุ่ม FNB เร็วกว่า ในกลุ่ม LIA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (514.50 นาที และ 1018.50 นาที p < 0.001) ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดในช่วง 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดของกลุ่ม FNB มากกว่า ในกลุ่ม
LIA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องอุบัติการณ์ของการคลื่นไส้และอาเจียน การคัน ปริมาณของยาแก้คลื่นไส้และอาเจียน ยาแก้คัน ระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
สรุป: วิธีการ LIA สามารถลดปริมาณความต้องการยาแก้ปวด และระดับคะแนนความปวด หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าภายใน 12 ชั่วโมงได้ดีกว่าวิธี FNB
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2561, July-September ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 107-113
คำสำคัญ
Femoral nerve block, Total knee arthroplasty, การฉีดยาชาที่เส้นประสาท femoral, การฉีดยาในข้อเข่าและเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัด, เปลี่ยนข้อเข่าเทียม, local infiltration analgesia, spinal anesthesia with morphine, การระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วนโดยการฉีดยาชาร่วมกับยามอร์ฟีนเข้าช่องน้ำไขสันหลัง