ประสิทธิภาพของวุ้นชุ่มปากในการบรรเทาอาการปากแห้งน้ำลายน้อยในผู้ป่วยจิตเวช
สาธกา ธาตรีนนานนท์
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของน้ำลายเทียมชนิดเจล (วุ้นชุ่มปาก) ต่อการลดอาการปากแห้งน้ำลายน้อย
และการเพิ่มอัตราการไหลของน้ำลายในผู้ป่วยจิตเวช
วัสดุและวิธีการ ผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นผู้ป่วยในของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์
ถึงสิงหาคม 2560 จำนวน 36 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 18 คน และกลุ่มทดลอง 18 คน โดยกลุ่มควบคุม
ได้รับคำแนะนำมาตรฐานในการดูแลอาการปากแห้งน้ำลายน้อย กลุ่มทดลองได้กินวุ้นชุ่มปากเป็นเวลา 4 สัปดาห์สัมภาษณ์อาการปากแห้งน้ำลายน้อยตรวจระดับภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยทางคลินิก วัดอัตราการไหลของน้ำลายทั้งก่อนกระตุ้นและหลังกระตุ้นและความเป็นกรด-ด่างของน้ำลาย เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในระยะก่อนทดลอง ระยะ 2 และ 4 สัปดาห์ในแต่ละกลุ่มด้วย Friedman test และเปรียบเทียบดัชนีอนามัยช่องปากทั้งสองกลุ่มเมื่อสิ้นสุดการวิจัยด้วย Mann-Whitney U test
ผล กลุ่มควบคุมมีอายุเฉลี่ย 35.61 ปี กลุ่มทดลอง 37.18 ปี ทั้งสองกลุ่มมีเพศชายและหญิงเป็นจำนวน
เท่ากัน กลุ่มทดลองที่ได้กินวุ้นชุ่มปากมีอาการและระดับภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยลดลงใน 2 สัปดาห์ อัตรา
การไหลของน้ำลายหลังกระตุ้นเพิ่มขึ้นใน 2 สัปดาห์ และอัตราการไหลของน้ำลายก่อนกระตุ้นเพิ่มขึ้นใน 4 สัปดาห์ ส่วนความเป็นกรด-ด่างของน้ำลายไม่เปลี่ยนแปลง และค่าดัชนีอนามัยช่องปากเปรียบเทียบในกลุ่ม
ทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่าไม่แตกต่างกัน
สรุป ผลิตภัณฑ์วุ้นชุ่มปากเมื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวช สามารถบรรเทาอาการปากแห้งน้ำลายน้อย
และเพิ่มอัตราการไหลของน้ำลายได้
 
ที่มา
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปี 2561, May-August ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 129-141
คำสำคัญ
Xerostomia, Artificial saliva, psychiatric patients, oral moisturizing jelly, น้ำลายเทียม, วุ้นชุ่มปาก, ผู้ป่วยจิตเวช, ปากแห้งน้ำลายน้อย