ประสิทธิผลของการเผายาสมุนไพรเปรียบเทียบกับการทำกายภาพบำบัดในการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิ
ธีรยุทธ เกษมาลี*, สินีนาฏ ชาวตระการกลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแม่จัน เชียงราย 57110 ประเทศไทย
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย: โรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ
เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพในผู้สูงอายุ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ปัจจุบันมีการนำการแพทย์แบบผสมผสานมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมากขึ้น โดย
เฉพาะศาสตร์แพทย์แผนไทย การเผายาสมุนไพรเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิ แต่ยังไม่เคยมีการวิจัยถึงประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้มาก่อน รวมถึง
ยังไม่มีการอธิบายหรือเปรียบเทียบกับวิธีอื่นอย่างชัดเจน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิด้วยการเผายาสมุนไพรเปรียบเทียบกับการทำกายภาพบำบัด
วิธีการทำวิจัย: เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ศึกษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิ อายุระหว่าง 50 - 79 ปี ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่จัน จังหวัดเชียงราย จำนวน 54 ราย แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม
ได้แก่ กลุ่มที่รักษาด้วยการเผายาสมุนไพร ได้รับการรักษา 5 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 วัน และกลุ่มที่รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดได้รับการรักษา 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ โดยก่อนและหลังสิ้นสุดการรักษา ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการประเมินข้อเข่าด้วยแบบประเมิน Knee and Osteoarthritis Outcome Score (KOOS) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังสิ้นสุดการรักษาของแต่ละกลุ่มและเปรียบเทียบคะแนนประเมินข้อเข่าที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่ม
ผลการศึกษา: ผลการประเมินโดยแบบประเมินข้อเข่า KOOS พบว่าหลังสิ้นสุดการรักษา ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีคะแนนประเมินข้อเข่าเพิ่มขึ้นในทุกด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P <0.001) อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบคะแนนประเมินข้อเข่าที่เพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดการรักษาของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าด้านอาการ อาการปวด กิจวัตรประจำวัน การเคลื่อนไหวในการออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน แต่ด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มที่รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติ (P = 0.001)
สรุป: การเผายาสมุนไพร เป็นการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิที่มีประสิทธิผล ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รวมถึงช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ต่างจากการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิได้
ที่มา
จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปี 2561, November-December
ปีที่: 62 ฉบับที่ 6 หน้า 975-985
คำสำคัญ
Physical Therapy, สมุนไพร, herb, Primary knee osteoarthritis, Thai herb heat treatment, ข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิ, กายภาพบำบัด, การเผายา