ประสิทธิผลของการใช้ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัดในผู้ใหญ่สำหรับการจัดการความปวดหลังผ่าตัดในห้องพักฟื้น โรงพยาบาลหัวหิน
เชิญพร พยอมแย้มกลุ่มงานวิสัญญี โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
บทคัดย่อ
อาการปวดหลังผ่าตัดเป็นปัญหาที่พบบ่อยในห้องพักฟื้น ซึ่งการจัดการความปวดถือเป็นหัวใจของการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยสุขสบาย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว กลุ่มงานวิสัญญี โรงพยาบาลหัวหิน จึงเริ่มกำหนดเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติการให้ยาระงับปวดในห้องพักฟื้น เพื่อพัฒนาประสิทธิผลการประเมินและการจัดการความปวด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัด สำหรับการจัดการความ
ปวดหลังผ่าตัด และศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการดูแลที่ได้รับ ในการจัดการความปวดหลังผ่าตัดในห้องพักฟื้นโรงพยาบาลหัวหิน โดยใช้ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัด เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ รวมถึงความพึงพอใจของวิสัญญีพยาบาลต่อการใช้ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัด สำหรับการจัดการความปวดหลังผ่าตัดในห้องพักฟื้น
วิธีการศึกษา: เป็นงานวิจัยแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย 200 คน
ที่เข้ารับการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วนภายใต้การระงับความรู้สึกแบบทั่วไปในโรงพยาบาลหัวหิน ได้จากการคำนวณขนาดตัวอย่างแบบเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม แบ่งแบบสุ่มเป็นกลุ่มที่ใช้ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัดและกลุ่มที่ไม่ใช้ กลุ่มละ 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความปวดด้วยมาตรวัดความปวดแบบตัวเลข (numerical rating scale: NRS) ที่ 45 นาที และ 1 ชั่วโมงหลังจากเข้ามาในห้องพักฟื้น สถิติที่ใช้ในการวิจัยสำหรับการวิเคราะห์ผลลัพธ์หลัก คือ ระดับความปวดในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณด้วย independent t-test และเปรียบเทียบข้อมูลเชิงคุณภาพคือความพึงพอใจด้วย chi-square test
ผลการศึกษา: กลุ่มที่ใช้ใบคำสั่งระงับปวดมีระดับความปวดที่ 45 และ 60 นาที ในห้องพักฟื้นน้อยกว่ากลุ่ม
ที่ไม่ใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมี NRS≤3 ที่ 60 นาที ร้อยละ 77 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยเป็นกลุ่มที่ใช้ใบคำสั่งระงับปวดร้อยละ 42 ส่วนกลุ่มไม่ใช้ร้อยละ 35 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับความพึงพอใจของผู้ป่วยพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่ใช้มีระดับความพึงพอใจมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ วิสัญญีพยาบาลมีความพึงพอใจต่อประสิทธิผลของใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัด ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 60 ระดับมาก ร้อยละ 40 สำหรับความพึงพอใจในด้านความสะดวกต่อการทำงานอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 40 และระดับมาก ร้อยละ 60
สรุป: ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัด มีประสิทธิผลในการลดระดับความปวดได้ดีกว่าการดูแลความปวดตามมาตรฐานเดิม และทำให้ผู้ป่วยและวิสัญญีพยาบาลมีความพึงพอใจในผลการระงับปวด รวมถึงความสะดวกในการใช้งาน
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2561, July-September
ปีที่: 37 ฉบับที่ 3 หน้า 262-272
คำสำคัญ
effectiveness, ประสิทธิผล, SATISFACTION, ความพึงพอใจ, postoperative pain order, recovery room, ใบคำสั่งการระงับปวดหลังผ่าตัด, ห้องพักฟื้น