คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดกรณีศึกษาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
รุ้งลาวัลย์ ยี่สุนแก้ว, สุรชาติ ณ หนองคาย*, ชัยรัตน์ ฉายากุล, ดุสิต สุจิรารัตน์ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามสิทธิการรักษาที่กฎหมายกำหนด กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ณ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งจำนวน 76 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า แบบสอบถามคุณลักษณะส่วนบุคคล ภาวะของโรคและการเจ็บป่วยและสิทธิการรักษา และแบบประเมินคุณภาพชีวิตเฉพาะโรคไตเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2557 สถิติที่ใช้คือ One way Anova t-test และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิจัย พบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = 246.83) เมื่อพิจารณาคุณภาพชีวิตรายด้าน พบว่า ด้านอาการโรคไตเรื้อรัง ( = 71.40) และด้านผลกระทบของโรคไตเรื้อรัง ( = 60.07) สูงกว่าด้านอื่นๆ แต่ด้านภาระจากโรคไต ( = 35.85) และด้านสุขภาพร่างกาย ( = 34.86) มีค่าคะแนนต่ำสุด เปรียบเทียบตามสิทธิการรักษา พบว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมในสิทธิหลักประกันสุขภาพดีกว่าสิทธิข้าราชการและกลุ่มที่ชำระเงินเอง (P= 0.044) และเมื่อเปรียบเทียบรายด้านพบว่า คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตใจในกลุ่มสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพดีกว่าในสิทธิข้าราชการ (P-Value = 0.024) จากการวิจัย พบว่า แต่ละสิทธิการรักษามีสิทธิตามกระบวนการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น การมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากการฟอกเลือด การจำกัดจำนวนครั้งในการฟอกเลือดและพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีค่าความพอเพียงของการฟอกเลือดอยู่ในเกณฑ์ผ่านมากกว่า ซึ่งค่าความพอเพียงของการฟอกเลือดมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น(r = 0.243) และการมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตลดลง (r = 0.267)
จากผลการวิจัยสามารถสรุปได้ว่าคุณภาพชีวิตด้านจิตใจและคุณภาพโดยรวมของผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแต่ละสิทธิการรักษาแตกต่างกัน จึงเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการรักษาตามสิทธิให้เป็นไปในลักษณะส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยสิทธิประเภทใดก็ตาม
ที่มา
Vajira Nursing Journal ปี 2559, January-June
ปีที่: 18 ฉบับที่ 1 หน้า 79-88
คำสำคัญ
Right of medical treatment, Disease condition, Quality of life of Hemodialysis, สิทธิตามกระบวนการรักษา, ภาวะของโรคและการเจ็บป่วย, คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยฟอกเลือด