เปรียบเทียบระดับความปวดระหว่างการใช้ยาชาเฉพาะที่แบบเจลที่มีอุณหภูมิเย็นและแบบอุณภูมิปกติ ในผู้ป่วยที่ทำการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
ธงไชย ชาญสิริรัตนกุล*, ธเนศ ไทยดำรงค์, วรพจน์ ชุณหคล้าย, วิโรจน์ จิตต์แจ้ง, สมเกียรติ พุ่มไพศาลชัย, ณัฐพงศ์ วงศ์วัฒนาเสถียร, เสริมสิน สินธุบดี, ชววรรธน์ โกสีย์ศิริกุล, มัชฌิมา ฮวบกอง, สมจิตร ดวงแขหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยและวิธีการศึกษา: ผู้ป่วยเพศชายที่เข้ารับการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะในโรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือน กันยายน พ.ศ. 2560 จนถึง ธันวาคม พ.ศ. 2560 จากนั้นทำการสุ่มแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 จะได้รับยาชาอุณหภูมิเย็น (4 องศาเซลเซียส) และผู้ป่วยในกลุ่มที่ 2 จะได้รับยาชาอุณหภูมิห้อง (22 องศาเซลเซียส) หลังจากนั้นจะทำการสอบถามคะแนนความปวดของผู้ป่วย 2 ช่วง คือช่วงระหว่างใส่ยาชา และหลังทำการส่องกล้องเสร็จ
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเพศชายที่เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมด 70 คน จากนั้นทำการสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างด้านอายุและประสบการณ์การเข้ารับการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะของทั้ง 2 กลุ่ม การเปรียบเทียบข้อมูลคะแนนความปวด โดย Mann-Whitney U test ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มที่ใช้ยาชาที่มีอุณหภูมิเย็นจะมีระดับคะแนนความปวดระหว่างการทำการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาชาอุณหภูมิห้อง ในขณะที่ระดับคะแนนความปวดระหว่างการใส่ยาชานั้น ไม่พบความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: การใช้ยาชาเฉพาะที่แบบเจลที่มีอุณหภูมิเย็นจะช่วยลดความปวดระหว่างทำการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาชาที่มีอุณหภูมิห้อง แต่ความปวดในช่วงระหว่างการใส่ยาชาเฉพาะที่แบบเจลนั้น ไม่แตกต่างกันทั้ง 2 กลุ่ม
ที่มา
วารสารยูโร ปี 2561, July-December
ปีที่: 39 ฉบับที่ 2 หน้า 28-34
คำสำคัญ
Cystoscopy, lignocaine gel, ยาชาเฉพาะที่แบบเจล, ส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ