การศึกษาผลของยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์ (Ethyl chloride) ต่อการลดความเจ็บปวดจากการเจาะนํ้าครํ่าในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์์
กฤตกาล เตลผล, สมมาตร บำรุงพืช*, ณัฐพงศ์ อิศรางกูล ณ อยุธยา
Department of Obstetrics and Gynaecology, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2201-1412 Fax: +66-2201-1416 E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์ (ethyl chloride) ต่อการลดความเจ็บปวดจากการเจาะนํ้าครํ่าในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาแบบควบคุมสุ่มแบบไม่อำพราง (Non-blinded randomized controlled trial) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความเจ็บปวดหลังจากการเจาะนํ้าครํ่าในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ระหว่างหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ และไม่ได้รับยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์ (ethyl chloride) ก่อนแทงเข็มเจาะนํ้าครํ่า คะแนนความเจ็บปวดวัดด้วยการใช้ visual analogue scale (VAS)
ผลการศึกษา: ทำการศึกษาระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 148 คน ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยการสุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ได้รับยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์ และกลุ่มควบคุม ไม่พบความแตกต่างกันของลักษณะข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้าร่วมการศึกษาและคะแนนความเจ็บปวดที่คาดคะเนก่อนทำหัตถการ (p = 0.6) ค่าเฉลี่ยของคะแนนความเจ็บปวดหลังทำหัตถการในกลุ่มที่ได้รับยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.01) ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 6 คน ในกลุ่มที่ได้รับยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์เกิดรอยผื่นนํ้าแข็งกัด (8%) ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถหายได้เอง โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนและจางหายไปไม่มีรอยแผลเป็น ส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด (98%) ยินดีเข้ารับการเจาะนํ้าครํ่าอีกครั้งหากมีข้อบ่งชี้
สรุป: ยาชาชนิดพ่นเอทธิลคลอไรด์ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการความเจ็บปวดจากการเจาะนํ้าครํ่าโดยผู้ที่จะรับการใช้ยาชาชนิดพ่นนี้ควรได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสมถึงความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2561, April ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 75-82
คำสำคัญ
pain, Amniocentesis, ปวด, ethyl chloride spray, visual analogue scale, เจาะนํ้าครํ่า, เอทธิลคลอไรด์, ยาชาชนิดพ่น