ผลของการบำบัดด้วยแสงจ้าต่อการนอนหลับของผู้ป่วยวิกฤตหลังผ่าตัด
ศิริมาศ โพธาราเจริญ*, สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย, ธวัชชัย เตชัสอนันต์, ธรรมศักดิ์ ทวิชศรีภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย: ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยวิกฤตต้องเผชิญกับภาวะการเจ็บป่วย ความวิตกกังวล สิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยเสียงจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการนอน การบำบัดด้วยแสงจ้า จึงอาจเป็นอีกหนึ่งการรักษาทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับดีขึ้น ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาถึงผลของแสงจ้าต่อการนอนหลับในผู้ป่วยวิกฤตหลังผ่าตัดมาก่อน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาถึงผลการบำบัดด้วยแสงจ้าต่อการนอนในผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยวิกฤต
วิธีการทำวิจัย: กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 61 ราย เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกันยายนพ.ศ. 2559 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมิน APACHE II Score แบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤต (CAM-ICU) และ แบบประเมินอาการนอนไม่หลับ (ISI) กลุ่มทดลองได้รับ bright light therapy (BLT) ที่มีความสว่าง 5,000 ลักซ์เป็นเวลา 2 ชั่วโมงในเวลา 09.00 - 11.00 น. ติดต่อกัน 3 วันภายหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วย
วิกฤตศัลยกรรมภายใน 24 ชั่วโมงกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลเช่นเดียวกับกลุ่มทดลองและได้รับแสงที่มีความสว่าง 500 ลักซ์ (แสงสว่างภายในหอผู้ป่วย) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS version 22 เพื่อหาสถิติเชิงพรรณนา ANOVA Chi-square และวิเคราะห์ผลของ BLT ต่อการนอนด้วย Generalized Estimating Equation (GEE)
ผลการศึกษา: การบำบัดด้วยแสงจ้ามีผลทำให้คะแนนการนอนไม่หลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.8 เท่า (95%CI = 0.6 – 1.0, P = 0.03) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับแสงจ้า และพบว่าจำนวนวันที่ได้รับแสงจ้า มีผลทำให้คะแนนการนอนไม่หลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.81 เท่า (95%CI = 0.7 – 1.0, P = 0.03 ) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับแสงจ้า
สรุป: ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับแสงจ้ามีการนอนหลับที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับแสงจ้า ดังนั้นการใช้แสงจ้าจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น และสนับสนุนให้มีการฟื้นตัว
ได้เร็วขึ้น และอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังฝ่าตัดในผู้ป่วยได้
ที่มา
จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปี 2561, March-April
ปีที่: 62 ฉบับที่ 2 หน้า 239-251
คำสำคัญ
Bright light therapy, surgical ICU, sleep disturbance, การใช้แสงจ้า, ไอซียูศัลยกรรม, การนอนหลับ