โมเดลการทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอหลังได้รับรังสีรักษา
มณฑิรา คำห่อ, นภาพร วาณิชย์กุล*, สุพร สุนัยดุษฎีกุล, กุลธร เทพมงคลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอำนาจในการทำนายคุณภาพชีวิตของปัจจัยส่วนบุคคล การลดลงของน้ำหนักตัว ความแตกฉานทางสุขภาพ การจัดการตนเอง ความรับผิดชอบต่อสุขภาพ และการรับรู้การดูแลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลางในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอหลังได้รับรังสีรักษาครบ 4-8 สัปดาห์
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทำนาย
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 110 รายเป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอหลังได้รับรังสีรักษาครบ 4-8 สัปดาห์ โดยการสุ่มเลือกจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย-วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ รักษาเฉพาะทางด้านมะเร็ง 3 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร ชุดแบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสุขภาพ คุณภาพชีวิต ความแตกฉานทางสุขภาพการจัดการตนเอง ความรับผิดชอบต่อสุขภาพและการรับรู้ การดูแลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง วิเคราะห์สถิติด้วยสถิติถดถอยพหุคูณแบบเชิงชั้น
ผลการวิจัย: ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในระดับปานกลาง (X = .67, SD = .19) โดยมีคุณภาพชีวิตทางจิตสังคมน้อยกว่าทางด้านร่างกาย (X = .39, SD = .19 และ X = .59, SD = .19) สำหรับโมเดลของปัจจัยส่วนบุคคล พบว่าอาการอ่อนล้าเท่านั้นที่สามารถอธิบายความแปรปรวนของคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติร้อยละ 10.5 (p < .01) ในโมเดลสุดท้ายพบว่า การจัดการตนเองและความแตกฉานทางสุขภาพสามารถร่วมทำนายคุณภาพชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึงร้อยละ 36 (p < .001) โดยการจัดการตนเองเป็นปัจจัยที่มีอำนาจในการทำนายมากที่สุด (β = .32, p < .01) การจัดการตนเองและความแตกฉานทางสุขภาพสามารถสามารถอธิบายความแปรปรวนของคุณภาพชีวิตได้มากกว่าความอ่อนล้าร้อยละ 25.5
สรุปและข้อเสนอแนะ: พยาบาลควรพัฒนากิจกรรมส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาความแตกฉานทางสุขภาพ และสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการจัดการตนเองในขณะที่รับการรักษาโดยการพิจารณาระดับความอ่อนล้าร่วมด้วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังครบคอร์สการรักษา
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2561, April-June
ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 54-66
คำสำคัญ
Quality of life, Head and neck cancer, Radiotherapy, SELF-MANAGEMENT, การจัดการตนเอง, มะเร็งศีรษะและลำคอ, health literacy, ความแตกฉานทางสุขภาพ, คุณภาพชีวิต รังสีรักษา