ประสิทธิผลของการใช้ซอฟต์แวร์กระตุ้นการกะพริบตาในผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีอาการตาแห้ง
ปณตศม เง่ายุธาการ*, ปนดา เตชทรัพย์อมร, รัฐภูมิ วรานุสาสน์, กัลยารัตน์ กองปัญญา, จารุวรรณ มีเพียร, ภัทรียา เสรีสันติวงศ์, ศศิธร ฉิมบรรเทิง
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้ซอฟต์แวร์ NU blink ในขณะที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อระดับความรุนแรงของตาแห้ง
วิธีวิจัย: การวิจัยเชิงพัฒนาและเชิงทดลองเปรียบเทียบ
วิธีการ: ทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอาการตาแห้งระดับปานกลางจากการใช้คอมพิวเตอร์ จำนวน 18 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีสุ่ม กลุ่มละ 9 คน คือ กลุ่มที่ใช้ซอฟต์แวร์ NU              blink และกลุ่ม 20/20/20 อายุเฉลี่ยเท่ากับ 31.22±6.76 และ 27.33±9.26 ปี ตามลำดับ ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามดัชนีโรคผิวตา อัตราการกระพริบตา ระดับการติดสีของกระจกตา และความเสถียรของน้ำตา ก่อนได้รับซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมให้ความรู้ 20/20/20 และหลังได้รับที่ 1 สัปดาห์ และ 2 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ The Mixed Model ANOVA และ Friedman test
ผลการศึกษา: ในกลุ่ม NU blink มีผลลดค่าคะแนนดัชนีโรคผิวตาอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.013) ภายในสัปดาห์ที่ 2 และมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการกะพริบตา แต่ไม่มีผลต่อความเสถียรของน้ำตา และการติดสีของกระจกตา ส่วนกลุ่มโปรแกรมให้ความรู้ 20/20/20 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกตัวแปร เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม ไม่พบความแตกต่างของค่าตัวแปรทุกค่า แต่กลุ่ม NU blink มีแนวโน้มเพิ่มอัตราการกะพริบตาได้ดีกว่ากลุ่ม 20/20/20
สรุป: การใช้ซอฟต์แวร์ NU blink  เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ลดระดับความรุนแรงของอาการตาแห้งได้ และมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการกะพริบตา แต่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการติดสีของกระจกตา และระดับความเสถียรของน้ำตา การศึกษาครั้งต่อไปควรทำการศึกษาในช่วงเวลาที่นานขึ้น
 
ที่มา
จักษุเวชสาร ปี 2561, January-June ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 1-12
คำสำคัญ
Dry eye syndrome, video display terminal, blinking, software, โรคตาแห้ง, ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์, การกะพริบตา, ซอฟต์แวร์