ผลของโปรแกรมการฝึกไบโอฟีดแบคชนิดควบคุมอัตราการแปรปรวนการเต้นของหัวใจต่ออาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่โรคซึมเศร้า
ดาวรุ่ง งามเลิศ, นุชนาถ บรรทุมพร*, ชมชื่น สมประเสริฐ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการฝึก HRV ไบโอฟีดแบค ต่ออาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่โรคซึมเศร้า
วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยกึ่งทดลองนี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวัยผู้ใหญ่ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน ในจังหวัด ลพบุรี อายุระหว่าง 20 - 59 ปี จำนวน 66 ราย สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 33 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการฝึก HRV ไบโอฟีดแบคร่วมกับการดูแลตามปกติ โปรแกรมการฝึกมีจำนวน 10 ครั้ง ครั้งละ 60-90 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อเนื่อง 5 สัปดาห์และมีการฝึก
หายใจที่บ้านทุกวันอย่างน้อย 20 นาทีติดต่อกัน สำหรับกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติเก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (Beck Depression Inventory; BDI) วิเคราะห์โดยใช้สถิติพรรณนา, dependent t-test และ independent t-test
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยคะแนนอาการซึมเศร้าภายหลังจากได้รับการฝึก HRV ไบโอฟีดแบคลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t =12.15, p <.001) และผลต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนอาการซึมเศร้าก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการฝึก HRV ไบโอฟีดแบคระหว่างสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t =13.42, p<.001)
สรุป: โปรแกรมการฝึก HRV ไบโอฟีดแบคมีประสิทธิผลในการลดอาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่โรคซึมเศร้า ดังนั้นจึงควรนำโปรแกรมการฝึก HRV ไบโอฟีดแบค มาประยุกต์ในการลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ในคลินิกเนื่องจากการบำบัดใช้เวลาสั้น และไม่ยุ่งยาก
 
ที่มา
วารสารพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปี 2561, September-December ปีที่: 32 ฉบับที่ 3 หน้า 61-74
คำสำคัญ
โรคซึมเศร้า, Depressive symptoms, อาการซึมเศร้า, Biofeedback Training Program, heart rate variability (HRV), depressive disorders, adults, โปรแกรมไบโอฟีดแบคชนิดควบคุมอัตราการแปรปรวนการเต้นของหัวใจ, วัยผู้ใหญ่