เปรียบเทียบต้นทุนงานบริการทันตกรรมเชิงรุกในโรงเรียนประถมศึกษาแบบเดิมและแบบประยุกต์เครือข่ายบริการทันตสุขภาพ อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
พรทิพย์ กีระพงษ์, พัดชา อังสุโชติเมธี*, สุรเดช ประดิษฐบาทุกามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนบริการทันตกรรมเชิงรุก 4 กิจกรรมหลักและภาระของโรงเรียน ระหว่างบริการ 2 แบบ คือ แบบเดิมที่มีหน่วยเคลื่อนที่ไปให้บริการทันตกรรมนักเรียนที่โรงเรียน กับแบบประยุกต์ที่โรงเรียนพาไปรับบริการจากทันตาภิบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เก็บข้อมูลเดือนธันวาคม 2558- กุมภาพันธ์ 2559 จากโรงเรียน 4 แห่ง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ใช้วิธีวิเคราะห์ต้นทุนกิจกรรม ผลการศึกษาพบว่า บริการแบบเดิมมีต้นทุนรวมทางตรงสูงกว่าแบบประยุกต์ สัดส่วนต้นทุนทั้งสองแบบ ค่าแรง: ค่าวัสดุ : ค่าลงทุน เท่ากับ 60.75 : 39.15 : 0.10 และ 46.23 : 51.17 : 2.60 ต้นทุนรวมทั้งหมดบริการแบบเดิมและแบบประยุกต์เท่ากับ 16,747.84 และ 5,625.48 บาท ต้นทุนต่อหน่วย เท่ากับ 60.46 และ 23.84 บาท/คน ตามลำดับ เมื่เปรียบเทียบต้นทุนด้วยสถิตินอนพาราเมตริกซ์ พบว่า กิจกรรมถอนฟันน้ำนมระดับ จ. และอุดฟันด้วยอะมัลกัมในบริการแบบประยุกต์มีต้นทุนต่อคนต่ำกว่าแบบเดิมอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001) อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ วิชาชีพ อายุงาน ครุภัณฑ์ของสถานบริการที่ต่างกันนั้นมีผลต่อค่าแรงและค่าลงทุน เมื่อให้บริการแบบประยุกต์ โรงเรียนห่างไกลมีภาระในการจัดหาครูและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อพานักเรียนไปรับบริการ ขณะที่บริการแบบเดิมโรงเรียนมีภาระค่าอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่ ข้อเสนอแนะ แม้ว่าบริการแบบประยุกต์มีต้นทุนต่ำกว่าในกิจกรรมถอนฟันน้ำนมระดับ จ. และอุดฟันด้วยอะมัลกัม การนำผลการศึกษาไปใช้เพื่อพัฒนาบริการทันตกรรมเชิงรุกในโรงเรียนประถมศึกษาสู่หน่วยบริการปฐมภูมิควรต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านบุคลากรของโรงเรียน ความปลอดภัยของครูและนักเรียนในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นกับโรงเรียน
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2561, May-June
ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 540-550
คำสำคัญ
activity-based costing, ต้นทุนกิจกรรม, proactive dental health service, primary schools, บริการทันตกรรมเชิงรุก, โรงเรียนประถมศึกษา