การศึกษาการลดระดับความเครียดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยโปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์
รัตนชัย เพ็ชรสมบัติ*, ปรัชญา แก้วแก่นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อพัฒนาโปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์สำหรับลดความเครียดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เปรียบเทียบระดับความเครียดในกลุ่มทดลองหลังจากใช้โปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์ และเปรียบเทียบระดับความเครียดระหว่างกลุ่มทอลองกับกลุ่มควบคุมหลังจากใช้โปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์
วิธีดำเนินการวิจัย: เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสองกลุ่ม วัดผลก่อนและหลัง การศึกษาประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ 1) การพัฒนาโปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์ และ 2) การนำโปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์ไปใช้กับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ อาสาสมัครผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 60 คน ที่มารับบริการในคลินิกโรคเรื้อรังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านวังใหม่ โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย หลังจากนั้นใช้การสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วย คู่มือการฝึกบริหารสมองแบบประยุกต์ แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานผู้ป่วยโรคเบาหวาน แบบรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (hemoglobin A1c) ระดับคอร์ติซอล (cortisol) ในเลือด และแบบประเมินวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ผลการวิจัย: พบว่า สามารถพัฒนาโปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์ที่มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุดได้จากการทดลองใช้เบื้องต้น (pilot study) ในผู้ป่วยเบาหวาน 10 คน และตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และหลังจากได้นำมาใช้กับอาสาสมัครการวิจัยพบว่า สามารถลดความเครียด ลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและลดระดับน้ำตาลสะสมในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มทดลองเมื่อเทียบกับก่อนและหลังการใช้โปรแกรมดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) นอกจากนั้น ยังพบว่าหลังการใช้โปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์กลุ่มทดลองมีระดับความเครียด (22.23 คะแนน) ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (38 คะแนน) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
สรุปผลการวิจัย: โปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์ เป็นกิจกรรมที่สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีระดับความเครียดและระดับน้ำตาลสะสมในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ปี 2560, January-June
ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 11-26
คำสำคัญ
Type 2 diabetes mellitus, เบาหวานชนิดที่ 2, Stress, ความเครียด, Brain fitness program, โปรแกรมบริหารสมองแบบประยุกต์