ต้นทุนประสิทธิผลของยาอทอร์วาสเตตินรูปแบบผลึก และอสัณฐานในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบทุติยภูมิ
สุภาพร อ่อนสนิท, เกศินี วานิชชัง, Kraisorn Anutarapongpan*
ภาควิชาอายุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: ยาอทอร์วาสเตติน (Atorvastatin) เป็นยาที่ถูกสั่งใช้เป็นจำนวนมากในผู้ป่วยที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อมีการผลิตยาชื่อสามัญ ซึ่งเป็นยาที่มีความเท่าเทียมกับยาต้นแบบทางด้านเภสัชกรรม ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ จึงได้นำยาชื่อสามัญ เพิ่มเข้ามาในบัญชียา โดยยังคงมี
ยาต้นแบบไว้ด้วย แต่เนื่องจากยาต้นแบบเป็นยาที่อยู่ในรูปแบบผลึก (crystalline form) ส่วนยาชื่อสามัญอยู่ในรูปแบบอสัณฐาน (amorphous form) การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของยาอทอร์วาสเตตินรูปแบบผลึก และอสัณฐานในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบทุติยภูมิในผู้ป่วยศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังโดยเก็บข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลและแฟ้มประวัติการรักษา ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนยาอทอร์วาสเตตินจากรูปแบบผลึก เป็นรูปแบบอสัณฐาน โดยผู้ป่วยต้องได้รับยาทั้งสองรูปแบบอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ประเมินผลลัพธ์การรักษาจากสัดส่วนผู้ป่วยที่ควบคุมระดับ LDL-C ได้ตามเป้าหมาย อ้างอิงแนวทางของ ESC/EAS ปี ค.ศ. 2016 (ระดับ LDL-C เป้าหมาย < 70 mg/dL) คำนวณหา
อัตราส่วนต้นทุนต่อประสิทธิผล 1 หน่วย (Cost-effectiveness ratio target achievement rate; CER-TA) ร่วมกับต้นทุนค่ายา
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่ได้รับยาอทอร์วาสเตตินรูปแบบอสัณฐานทั้งหมด 2,185 ราย มี 951 ราย ที่ได้ยาสำหรับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบทุติยภูมิ แล้วได้รับการเปลี่ยนรูปแบบยามาจากรูปแบบผลึก ค่าเฉลี่ยระดับ LDL-C ของผู้ป่วยหลังเปลี่ยนยาเป็นรูปแบบอสัณฐาน น้อยกว่าขณะได้รับยารูป
แบบผลึก แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mean ± SD: 92.24 ± 40.2, 96.92 ± 40.8, p <0.001) และหลังเปลี่ยนยาเป็นรูปแบบอสัณฐาน มีสัดส่วนของผู้ป่วยที่บรรลุเป้าหมายการ รักษามากกว่า ก่อนเปลี่ยนรูปแบบยา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 26.3 และ 21.4 ตามลำดับ, p =0.001)
โดยมีค่า cost-effectiveness ratio (target achievement rate); CER-TA ในกลุ่มรูปแบบอสัณฐาน ต่ำกว่ารูปแบบผลึก (136.4 และ 440.4 บาทต่อสัดส่วนของผู้ป่วยบรรลุเป้าหมายการรักษา)
สรุป: การใช้ยาอทอร์วาสเตตินรูปแบบอสัณฐาน ในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบทุติยภูมิ มีต้นทุนประสิทธิผลโดยประเมินจากค่า CER-TA ต่ำกว่ารูปแบบผลึก
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2562, May-June ปีที่: 34 ฉบับที่ 3 หน้า 219-225
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Atorvastatin, ต้นทุนประสิทธิผล, LDL achieve goal, crystalline form, amorphous form, อทอร์วาสเตติน, LDL, เป้าหมาย, รูปแบบผลึก, รูปแบบอสัณฐาน