การเปรียบเทียบระหว่างการเฝ้าระวังผู้ป่ วยโดยบุคลากรทางวิสัญญีวิทยาร่วมกับยาเฟนตานิลภายใต้การระงับเส้นประสาทอิลิโออินกวยนอลเส้นประสาทอิลิโอไฮโปกาสตริค กับ การระงับความรู้สึกโดยฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง สำหรับการผ่าตัดเย็บซ่อมไส้เลื่อนที่ขาหนีบในโรงพยาบาลสระบุรี
พลภัทร สุลีสถิระ
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์ : การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของ การระงับความรู้สึกโดยฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง กับ การใช้ยาชาเฉพาะที่ทำการระงับเส้นประสาทอิลิโออินกวยนอลและอิลิโอไฮโปกาสตริค (IHNB) ร่วมกับการให้ยาเฟนตานิลทางหลอดเลือดดำและเฝ้าระวังผู้ป่วยโดยบุคลากรทางวิสัญญี (MAC) ในการผ่าตัดเย็บซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบในโรงพยาบาลสระบุรี
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้าแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ทำการศึกษาผู้ป่วยผ่าตัดเย็บซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบ ผู้ป่วย 40 รายถูกแบ่งโดยสุ่มออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 20 ราย กลุ่ม S ผู้ป่วยได้รับการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง กลุ่ม M ผู้ป่วยได้รับ IHNB ร่วมกับการให้ยาเฟนตานิลและ MAC กลุ่ม M ได้รับยาเฟนตานิล 2 มคก.ต่อกก. ทางหลอดเลือดดำ 5 นาทีก่อนทำ IHNB และจะได้รับยาเฟนตานิลทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดการผ่าตัด ทั้ง 2 กลุ่มจะถูกเปรียบเทียบค่าความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง ระดับความรู้สึกตัว ระดับความเจ็บปวด ความพึงพอใจของผู้ป่วยและศัลยแพทย์ต่อการระงับความรู้สึก และภาวะแทรกซ้อนได้แก่ การให้ยาอีฟรีดรีน ปัสสาวะคั่ง คลื่นไส้อาเจียน
หลังการผ่าตัด
ผลการศึกษา : ความดันโลหิตและ อัตราการเต้นของหัวใจของกลุ่ม S ต่ำกว่ากลุ่ม M อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การฉีดยาอีฟรีดรีนในกลุ่ม S มากกว่ากลุ่ม M อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.047) ไม่มีความแตกต่างของอัตราการหายใจ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงระดับความรู้สึกตัวระหว่าง 2 กลุ่ม ระดับความเจ็บปวดของกลุ่ม M สูงกว่ากลุ่ม S เมื่อประเมิน ที่ห้องพักฟื้น (p =0.001) แต่เมื่อประเมิน24ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ไม่มีความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่ม กลุ่ม M มีความพึงพอใจต่อการระงับความรู้สึกมากกว่ากลุ่ม S (p=0.001) แต่ศัลยแพทย์มีความพึงพอใจต่อการระงับความรู้สึกกลุ่ม S มากกว่า  (p=0.005) จำนวนของผู้ป่วยที่มีปัสสาวะคั่ง คลื่นไส้อาเจียนไม่แตกต่างกันระหว่าง 2 กลุ่ม
สรุป: IHNB และการให้ยาเฟนตานิลทางหลอดเลือดดำร่วมกับ MAC สามารถกระทำได้โดยปลอดภัย ในการผ่าตัดเย็บซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบ จึงเป็นวิธีการระงับความรู้สึกที่น่าจะสามารถใช้ในการทำผ่าตัดแบบไปและกลับในวันเดียวกันได้
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2562, May-June ปีที่: 34 ฉบับที่ 3 หน้า 256-262
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, Inguinal herniorrhaphy, ไส้เลื่อนขาหนีบ, Monitored anesthesia care, การเฝ้าระวังโดยบุคลากรทางด้านวิสัญญี, การระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง