ผลการออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือในอาสาสมัครเพศหญิงที่มีความดันโลหิตในเกณฑ์ก่อนความดันโลหิตสูง
ศิโรรัตน์ วรเชษฐ์, เสาวนีย์ นาคมะเร็ง*
สายวิชากายภาพบบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตในอาสาสมัครเพศหญิงที่ความดันโลหิตอยู่ในระดับก่อนเป็นความดันโลหิตสูง
วัสดุและวิธีการ: อาสาสมัครที่เข้าร่วมการศึกษาเป็นอาสาสมัครเพศหญิงซึ่งได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าความดันโลหิตอยู่ในระดับก่อนเป็นความดันโลหิตสูง จำนวน 42 ราย อายุอยู่ในช่วง 40-59 ปี สุ่มอาสาสมัครเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มควบคุม (อายุเฉลี่ย 48.10±5.76 ปี จำนวน 21 ราย) และกลุ่มออกกำลังกาย (อายุเฉลี่ย 50.00±7.01 ปี จำนวน 21 ราย) อาสาสมัครในกลุ่มออกกำลังกายได้รับการออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือที่ความหนัก 30% ของความสามารถสูงสุด ของแรงบีบมือ บีบค้าง 2 นาที พัก 1 นาที จำนวน 4 ครั้ง ความถี่ 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นประเมินค่าความดันโลหิตในขณะพักเพื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการออกกำลังกาย
ผลการศึกษา: หลังฝึกออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือ 4 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัครในกลุ่มออกกำลังกายมีค่าความดันโลหิตซีสโตลิกและความดันโลหิตไดแอสโตลิกขณะพักลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความดันโลหิตก่อนฝึก (p<0.05) นอกจากนี้เมื่อครบ 4 สัปดาห์ พบว่าระดับความดันโลหิตซีสโตลิกในกลุ่มออกกำลังกายมีค่าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนค่าความดันโลหิตแดงเฉลี่ยในกลุ่มออกกำลังกายมีค่าลดลง (-3.1%, p=0.002) เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนออกกำลังกาย และเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมการออกกำลังกายความดันโลหิตแดงเฉลี่ยในกลุ่มที่ฝึกออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือมีค่าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.038)
สรุปผลการศึกษา: ระดับความดันโลหิตขณะพักมีค่าลดลงหลังการออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในอาสาสมัครเพศหญิงที่ความดันโลหิตอยู่ในระดับก่อนเป็นความดันโลหิตสูง
 
 
ที่มา
Journal of Associated Medical Sciences ปี 2560, May ปีที่: 50 ฉบับที่ 2 หน้า 197-208
คำสำคัญ
Exercise, การออกกำลังกาย, Blood pressure, ความดันโลหิต, Isometric handgrip exercise, pre-hypertension, การออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านแบบเกร็งค้างด้วยมือ, ความดันโลหิตในเกณฑ์ก่อนความดันโลหิตสูง