ผลการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต่อคุณภาพชีวิตสตรีปัสสาวะเล็ด
กรกฎ เห็นแสงวิไล*, อุบล พิรุณสาร, วิไลวรรณ มณีจักร สโนว์ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก
บทคัดย่อ
ที่มาและความสำคัญ: ภาวะปัสสาวะเล็ดในสตรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยป้องกันและรักษาอาการปัสสาวะเล็ดและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตามการศึกษาผลของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต่อคุณภาพชีวิตของสตรีในชุมชนที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดยังมีความจำกัด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor exercise; PFx) ต่อคุณภาพชีวิตในสตรีที่ปัสสาวะเล็ดในชุมชน
วัสดุและวิธีการ: ผู้วิจัยและอาสาสมัครประจำหมู่บ้านร่วมกันสำรวจปัญหาการมีปัสสาวะเล็ด (urinary incontinence; UI) ของสตรีในชุมชนอายุ 30-60 ปีผู้เข้าร่วมการศึกษาอายุเฉลี่ย 52.31±7.0 ปี ในเขตชุมชนตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละ 25 ราย ตามความสมัครใจ กลุ่มบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFx) และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งชนิด stress urinary incontinence (SUI), urgency urinary incontinence (UUI) และ mixed urinary incontinence (MUI) ก่อนและหลังการเข้าร่วมการศึกษาทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินคุณภาพชีวิตด้วยแบบประเมิน King’s Health Questionnaire (KHQ-Thai) ฉบับภาษาไทย และประเมินอาการปัสสาวะเล็ดในขณะนั่งยอง ไอ จาม หัวเราะ กระโดดกางขา ยกของจากพื้น และได้ยินเสียงน้ำไหลจากท่อน้ำ โปรแกรมการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานประกอบด้วยการขมิบแบบหดตัวช้า และแบบหดตัวเร็ว วันละ 30 ครั้ง อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาสาสมัครบันทึกความถี่การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและอาการปัสสาวะเล็ดในสมุดรายงานตนเอง
ผลการศึกษา: กลุ่ม PFx มีคะแนนคุณภาพชีวิต KHQ-Thai ดีขึ้นในทุกด้าน (p<0.05) เมื่อเทียบกับก่อนบริหารได้แก่ การรับรู้สุขภาพ ผลกระทบจากปัสสาวะเล็ดการจำกัดด้านต่างๆ ได้แก่ การทำกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมทางกาย การเข้าสังคม ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น อารมณ์ การนอนหลับ ระดับความรุนแรงของปัสสาวะเล็ด และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม (p<0.05) ยกเว้นผลกระทบจากปัสสาวะเล็ด การจำกัดด้านการเข้าสังคม ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น อารมณ์อาการปัสสาวะเล็ดในกลุ่มควบคุมไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลุ่ม PFx มีจำนวนผู้ที่ปัสสาวะเล็ด และอาการปัสสาวะเล็ดลดลง ยกเว้นการนั่งยอง และการยกของจากพื้นที่มีปริมาณปัสสาวะเล็ดลดลงแต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติ
สรุปผลการศึกษา: อาสาสมัครที่บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 8 สัปดาห์ มีอาการปัสสาวะเล็ดลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าก่อนบริหารและดีกว่ากลุ่มที่ไม่บริหาร ดังนั้นควรแนะนำให้สตรีที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดให้บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้องเป็นประจำเพื่อช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ส่งเสริมให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชน
ที่มา
Journal of Associated Medical Sciences ปี 2560, May
ปีที่: 50 ฉบับที่ 2 หน้า 209-216
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Urinary incontinence, คุณภาพชี่วิต, Pelvic floormuscles, women’s health, KHQ-Thai, กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน, ปัสสาวะเล็ด, สุขภาพสตรี