ประสิทธิผลของการใช้อุปกรณ์ประคองข้อมือรักษาการกดทับเส้นประสาทมีเดียน บริเวณข้อมือ
อดิศักดิ์ แทนปั้น*, เอกพจน์ ศฤงคารินกุล, Tipyarat Saringcarinkul, ธีระ ตั้งวิริยะไพบูลย์กลุ่มงานประสาทศัลยกรรม สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
โรคกดทับเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ (carpal tunnel syndrome) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่ม
โรคเส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้อุปกรณ์ประคองข้อมือ (wrist splint) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคกดทับเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ การศึกษานี้เริ่มตั้งแต่ กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ถึง เมษายน พ.ศ. 2560 ที่แผนกผู้ป่วยนอก สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ผู้ป่วยทั้งหมด 106 ราย ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและยืนยันผลด้วยการตรวจชักนำกระแสประสาทด้วยไฟฟ้า (nerve conduction study) หลังจากได้รับการยืนยันผล ผู้ป่วยถูกแบ่งโดยการสุ่มเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลอง 51 ราย ผู้ป่วยได้รับอุปกรณ์ประคองและสวมใส่เพื่อการรักษา และกลุ่มควบคุม 55 ราย ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา ระหว่างการรักษาผู้ป่วยได้รับการประเมินผลในระยะก่อนการรักษา และ 6 เดือนหลังการรักษา ผลลัพธ์หลักวัดโดยคะแนนจากแบบสอบถาม Thai Version Boston Carpal Tunnel Questionnaire (BCTQ) และผลลัพธ์รองวัดโดยผลการตรวจชักนำกระแสประสาทด้วยไฟฟ้า และวัดระดับความรุนแรงตามการจำแนกทางความรุนแรงการชักนำกระแสประสาท (neurophysiological classification) เมื่อสิ้นสุดการศึกษาได้ประเมินติดตามผลการรักษาที่ 6 เดือน พบว่าทั้งสองกลุ่มมีระดับความรุนแรงของอาการจากประเมินคะแนนแบบสอบถาม BCTQ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (กลุ่มทดลอง จาก 3.4 เหลือ 2.8; p < 0.001 และกลุ่มควบคุม จาก 3.0 เหลือ 2.4; p < 0.001) การตรวจการชักนำกระแสประสาทด้วยไฟฟ้าความรุนแรงของโรคลดลงไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มควบคุมที่รักษาด้วยยามีจำนวน 8 ราย ซึ่งจำนวนมากกว่ากลุ่มทดลองที่รักษาด้วยอุปกรณ์ประคองข้อมือ ซึ่งได้รับการผ่าตัดเพียง 1 รายเท่านั้น (p = 0.032) จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาทั้งแบบใช้อุปกรณ์ประคองมือ และการรักษาแบบด้วยยา มีประสิทธิผลในการลดระดับความรุนแรงและบรรเทาอาการจากโรคได้ และที่สำคัญพบว่าการสวมใส่อุปกรณ์ประคองมือสามารถลดอัตราการผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2561, May-August
ปีที่: 35 ฉบับที่ 2 หน้า 236-247
คำสำคัญ
Treatment, การรักษา, Carpal tunnel syndrome, wrist splint, โรคกดทับเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ, อุปกรณ์ประคองข้อมือ