การเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรมยากับการฝังเข็มต่อการรักษาอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
นครทรัพย์ หล่าวเจริญ*, ธาวิณี ช่วยเอื้อสาขาวิชาการแพทย์แผนจีน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 57100
บทคัดย่อ
การเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรมยากับการฝังเข็มต่อการลดอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในผู้เข้าร่วมวิจัย จำนวน 79 รายที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันว่ามีอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วัดคะแนนความปวดโดยใช้ visual analogue scale (VAS) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลองรักษาโดยการรมยาจำนวน 40 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบรักษาโดยการฝังเข็มจำนวน 39 ราย โดยทั้งสองกลุ่มเลือกใช้จุด Shenshu (BL23), จุด Dachangshu (BL25), จุด Zhibian (BL54) และจุด Huantiao (GB30) ในการรักษาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที รวม 8 ครั้ง หลังสิ้นสุดการรักษาวัดคะแนน และเก็บข้อมูลอีกครั้งในผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสองกลุ่ม จากผลการศึกษา พบว่าหลังสิ้นสุดการรักษากลุ่มเปรียบเทียบมีคะแนนความปวดเฉลี่ย 2.38 ± 0.88 กลุ่มทดลองมีคะแนนความปวดเฉลี่ย 2.88 ± 0.91 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดก่อนและหลังการทดลองในทั้งสองกลุ่ม พบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดระหว่างกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลอง พบว่าหลังการทดลองคะแนนความปวดทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันในทางสถิติ (p > 0.05) ผลที่ได้ชี้ให้เห็นว่า การรมยามีประสิทธิผลในการลดอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเช่นเดียวกับการฝังเข็มซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2562, January-April
ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 77-84
คำสำคัญ
Acupuncture, Lower back pain, "การฝังเข็ม, การรมยา, หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, ปวดหลังส่วนล่าง", moxibustion, back pain from lumbar disc herniation nerve pain