การศึกษาเปรียบเทียบการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ ออกทั้งหมดโดยไม่มีการฝังต่อมพาราไทรอยด์กับวิธีการ ผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกบางส่วนในผู้ป่วยไตเรื้อรัง ที่มีภาวะพาราไทรอยด์สูงอย่างรุนแรง
กิตติพงษ์ ผลสุวรรณชัย*, ภูษิต เฟื่องฟู, บัญชา สถิระพจน์, อำนาจ ชัยประเสริฐ, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์
แผนกโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า
บทคัดย่อ
บทนำ : ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงอย่างรุนแรงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทน ทางไต การผ่าตัดด้วยวิธีผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมดโดยไม่มีการฝังต่อมพาราไทรอยด์ และวิธีการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ ออกบางส่วนเป็นวิธีการรักษาเพื่อควบคุมภาวะดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามขาดการศึกษาเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพของการรักษาทั้งสองวิธี
วัตถุประสงค์ : เพี่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมดกับวิธีการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกบาง ส่วนเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนทางไตที่มีภาวะพาราไทรอยด์สูงอย่างรุนแรง
วิธีการวิจัย : เป็นการศึกษาแบบทดลองสุ่มตัวอย่างที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยสุ่มเป็นการผ่าตัดหนึ่งในสองวิธี โดยประเมิน ผลว่าประสบความสำเร็จในการผ่าตัดคือระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดน้อยกว่า 300 พิโคกรัม/มล. หลังการผ่าตัด ร่วมกับ การตรวจระดับแคลเซียม และฟอสเฟตในเลือด การบันทึกขนาดยาแคลเซียมและวิตามินดี
ผลการวิจัย : มีผู้ป่วยเข้าร่วมการวิจัย 12 ราย กลุ่มละ 6 ราย ค่าเฉลี่ยของระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดระดับแคลเซียม และวิตามินดีในเลือดก่อนการผ่าตัดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นระดับฟอสเฟตในเลือดก่อนการผ่าตัด ของกลุ่มการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมดสูงกว่ากลุ่มผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกบางส่วนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (7.2±0.6 vs. 5.4±0.4 มก./ดล.ตามลำดับ) ผู้ป่วยทุกรายในการผ่าตัดทั้งสองวิธีมีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดน้อยกว่า 300 พิโคกรัม/มล.  หลังการผ่าตัด สำหรับระดับฟอสเฟตในเลือดช่วงเวลา 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และปริมาณวิตามินดีรับประทานภายใน 7 สัปดาห์ หลังผ่าตัดมีค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมด เมื่อติดตามจนจบการศึกษาไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของระดับฟอสเฟตในเลือดและปริมาณวิตามินดีรับประทาน ขณะที่ระดับแคลเซียมในเลือด และปริมาณ แคลเซียมรับประทานไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตลอดการศึกษา ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ย ประมาณ 6 วัน ในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม และไม่มีผู้ป่วยรายใดเกิดอาการจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำอย่างรุนแรง
สรุป : การผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมดอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในการรักษาภาวะฮอร์โมน พาราไทรอยด์สูงอย่างรุนแรง หลังติดตามเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งควรมีการติดตามผลในระยะยาวต่อไป
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2556, January-March ปีที่: 19 ฉบับที่ 1 หน้า 50-58
คำสำคัญ
DIALYSIS, severe hyperparathyroidism, total parathyroidectomy