การศึกษาแบบสุ่มเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยา Sulodexide ในการลดโปรตีนในปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวาน
ปิยะวดี หอมไกรลาศ*, วรวรรณ ชัยลิมปมนตรีหน่วยโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
บทคัดย่อ
บทนำ: การรักษาผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวานนอกเหนือจากการรักษาจำเพาะของแต่ละโรคแล้ว ยังมีเป้าหมายในการควบคุม ความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท โดยใช้ยาในกลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEI) หรือ angiotensin receptor blocker (ARB) เพื่อลดโปรตีนในปัสสาวะให้ต่ำกว่า 1 กรัม/วัน แม้ว่าจะได้รับการรักษาดังกล่าวแล้วยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ที่ยังมีโปรตีนในปัสสาวะเกินเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ต้องหาการรักษาใหม่เพิ่มเติมซึ่ง sulodexide เป็นหนึ่งในนั้น โดย sulodexide เป็น glycosaminoglycan ที่ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพในการลดโปรตีนในปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวาน อย่างไรก็ตามการศึกษาในผู้ป่วยโรคที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวานยังมีจำนวนน้อย การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของยา sulodexide ในการลดโปรตีนในปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวาน
วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยที่มีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 500 มก./วัน แม้จะได้รับการรักษามาตรฐานด้วย ACEI และ/หรือ ARB แล้ว จะถูกสุ่มเลือกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม A จะได้รับ sulodexide รับประทาน 200 มก./วัน ร่วมกับการรักษามาตรฐาน และกลุ่ม B ได้รับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว โดยผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอทจะ ไม่ถูกนำมาเข้าร่วมการศึกษานี้ หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับการตรวจร่างกาย ความสมบูรณ์ของเลือด ค่าการทำงานของไต การทำงานของตับและการแข็งตัวของเลือดทุก 1 เดือน จนครบ 3 เดือน ผลลัพธ์หลักคือการเปลี่ยนแปลงของปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ (urine protein to creatinine ratio : UPCR) ภายหลังจากได้รับยา sulodexide, ผลลัพธ์รอง คือ อัตราส่วนประชากรที่มีการลดลง ของโปรตีนในปัสสาวะมากกว่าร้อยละ 50 การเปลี่ยนแปลงอัตราการกรองของไตและผลข้างเคียงที่เกิดจากยา
ผลการศึกษา: จากผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 37 คน ได้รับการสุ่มแบ่งเป็นกลุ่ม A 18 คน และกลุ่ม B 19 คน โดยมีผู้ได้รับ การตรวจชิ้นเนื้อไตทั้งหมด 20 คน : ไตอักเสบลูปัส 5 คน, ไตอักเสบชนิด IgA 5 คน, ไตอักเสบชนิด membranous 1 คน, ไตอักเสบชนิด membranoproliferative 3 คน, ไตอักเสบชนิด focal segmental glomerulosclerosis 6 คน มีอายุเฉลี่ยโดยรวม 50.8 ± 13.6 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 54.1 ค่าเฉลี่ยอัตราการกรองของไต (eGFR) 59.6 ± 25.5 มล./นาที/พื้นที่ผิว 1.73 ตร.ม.และค่าเฉลี่ยปริมาณ โปรตีนในปัสสาวะ 1382 ± 931 มก./ก. ครีอะตินีน โดยข้อมูลพื้นฐานของทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นกลุ่ม A มีระดับความดันซิสโทลิกต่ำกว่า เมื่อสิ้นสุดการศึกษาไม่พบความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ ระหว่างทั้ง 2 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (20.7 ± 657.9 ในกลุ่ม A เทียบกับ -152.9 ± 1002.2 มก./ก. ครีอะตินีนในกลุ่ม B ; p=0.55) นอกจากนั้นอัตราส่วนประชากรที่มีการลดลงของโปรตีนในปัสสาวะมากกว่าร้อยละ 50 ก็ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ (ร้อยละ16 ในกลุ่ม A เทียบกับร้อยละ 21 ในกลุ่ม B; p=0.73) การเปลี่ยนแปลงของอัตราการกรองของไตไม่แตกต่างกัน และไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นในทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: จากการศึกษานี้พบว่ายา sulodexide ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดโปรตีนในปัสสาวะได้ แต่ข้อจำกัด คือ มีผู้เข้าร่วมการศึกษาน้อยและระยะเวลาที่ทำการศึกษาสั้นเกินไป ดังนั้น ในอนาคตจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมที่มีผู้เข้าร่วมการศึกษามากขึ้น ระยะเวลานานขึ้นเพื่อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของยาในการลดโปรตีนในปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวานต่อไป
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2557, April-June
ปีที่: 20 ฉบับที่ 2 หน้า 58-65
คำสำคัญ
Proteinuria, sulodexide, glomerulonephritis, non-diabetic glomerular disease, โรคไตอักเสบ, โปรตีนรั่วในปัสสาวะ, โรคไตที่ไม่ได้เกิดจากเบาหวาน