การศึกษาแบบทดลองสุ่มถึงประสิทธิภาพของแคลเซียมคาร์บอเนตแบบปรับขนาดตามระดับฟอสเฟตในมื้ออาหารและแบบขนาดเท่ากันทุกมื้อเพื่อเป็นยาจับฟอสเฟตในอาหารในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดไตทดแทน
นรวีร์ พุ่มจันทน์*, จันจิรา ประภากร, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์, อำนาจ ชัยประเสริฐ, เนาวนิตย์ นาทา, บัญชา สถิระพจน์หน่วยไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลมงกุฏเกล้า และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้องรังที่ได้รับการบำบัดไตทดแทน การขาดการปรับขนาดยาจับฟอสเฟตตามมื้ออาหารอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ควบคุมภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงไม่ได้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของระดับฟอสเฟต และแคลเซียมระหว่างกลุ่มที่มีการปรับขนาดแคลเซียมคาร์บอเนต ตามระดับฟอสเฟตในมื้ออาหาร (Adjusted dose, AD regimen) และกลุ่มที่มีการใช้ขนาดแคลเซียมคาร์บอนเนตเท่ากันทุกมื้อ (Fix dose, FD regimen)
วิธีวิจัย: ทีมผู้วิจัยได้ทำการทดลองสุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดไตทดแทนแบบฟอกเลือดแบ่งเป็นสองกลุ่มเป็นเวลา 12 สัปดาห์ กลุ่ม AD regimen คือ ปรับขนาดแคลเซียมคาร์บอเนตตามปริมาณฟอสเฟตในอาหารแต่ละมื้อ การติดตามเปลี่ยนแปลง ระดับฟอสเฟต แคลเซียม ดัชนีวัดการทำงานของกระดูก และผลข้างเคียงของยา
ผลวิจัย : ผู้ป่วยกลุ่ม AD regimen 35 ราย และกลุ่ม FD regimen 35 ราย ได้รับแคลเซียมคาร์บอเนตเฉลี่ย 2.1 กรัมต่อวันทั้งสองกลุ่ม ระดับฟอสเฟตในเลือดก่อนรักษา 5.44±1.17 มก./ดล. แล้วลดลง -1.01±1.59 มก./ดล. หลังรักษาในกลุ่ม AD regimen และ ระดับฟอสเฟตในเลือดก่อนรักษา 5.15±1.30 มก./ดล. แล้วลดลง -0.26±1.35 มก./ดล. หลังรักษาในกลุ่ม FD regimen โดยมี การลดลงของระดับฟอสเฟตในเลือดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P= 0.035) นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับแคลเซียมในเลือดลดลงในกลุ่ม AD regimen มากกว่ากลุ่ม FD regimen อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (-0.52±1.05 เทียบกับ +0.53±0.77 มก./ดล. P< 0.001) ระดับพาราไธรอยด์ฮอร์โมนในเลือด และขนาดของวิตามินดีไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสองกลุ่ม แต่มีสัดส่วนการเกิด ภาวะท้องผูกมากกว่ากลุ่ม FD regimen พบร้อยละ17.1 เทียบกับร้อยละ 2.8, P=0.046
สรุป: จากการศึกษานี้บ่งชี้ว่า การปรับขนาดยาจับฟอสเฟตตามมื้ออาหารในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบาบัดไตทดแทนสามารถ ควบคุมระดับฟอสเฟต และแคลเซียมในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัย และผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบาบัดไตทดแทน
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2559, January-March
ปีที่: 22 ฉบับที่ 1 หน้า 55-61
คำสำคัญ
DIALYSIS, calcium carbonate, phosphate binder, แคลเซียมคาร์บอเนต, ยาจับฟอสเฟต, ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดไตทดแทน