ผลการรักษาของเทคนิคแอคทีฟรีลีสแบบดัดแปลงและการนวดไทยต่อความสามารถในการทำงานของข้อไหล่และสะบักในผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม
เศรษฐพงศ์ หนองหารพิทักษ์, ปรีดา อารยาวิชานนท์, อุไรวรรณ ชัชวาล, อาทิตย์ พวงมะลิ, ยอดชาย บุญประกอบ*
สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
ที่มาและความสำคัญ: ปัจจุบันมีการศึกษา เปรียบเทียบหัตถบำบัดที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม ได้แก่ เทคนิคแอคทีฟรีลีสแบบดัดแปลง และการนวดไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของผลการรักษาทั้งสองวิธี ต่อความสามารถในการทำงานของข้อไหล่และสะบักในผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาระหว่าง เทคนิคแอคทีฟรีลีสแบบดัดแปลง และการนวดไทยต่อ ความสามารถในการทำงานของข้อไหล่และสะบักในผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม
วิธีการวิจัย: ผู้ป่วยกลุ่มอาการสะบักจม สุ่มตัวอย่าง เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยเทคนิคแอคทีฟรีลีสแบบดัดแปลง (จำนวน 35 คน) และกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยการนวดไทย (จำนวน 35 คน)  เวลาและ ความถี่ของการใช้วิธีการรักษาทั้งสองชนิดในการศึกษา ครั้งนี้คือ หนึ่งครั้ง 30 นาที และ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ใน
 
ระยะเวลา 3 สัปดาห์ ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ความสามารถในการทำงานของข้อไหล่และสะบักโดยใช้แบบสอบถามความสามารถของการใช้แขน ไหล่ และมือในการทำกิจกรรมฉบับย่อ (quick disabilities  of the arm, shoulder and hand questionnaire) และองศาการเคลื่อนไหวของคอและข้อไหล่โดย cervical range of motion goniometer (CROM goniometer) และเครื่องมือโกนิโอมิเตอร์แบบมาตรฐาน ตามลำดับ โดยประเมินผลก่อนการรักษา สัปดาห์ที่สามและสัปดาห์ที่แปดหลังการรักษาครั้งแรก การวิเคราะห์ผลก่อนและหลังการรักษาภายในกลุ่มใช้สถิติ repeated measure ANOVA และการวิเคราะห์ผลความแตกต่าง ระหว่างกลุ่มใช้สถิติ ANCOVA โดยใช้ค่า pre-test เป็น ตัวแปรร่วมในการศึกษา
ผลการวิจัย: เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มพบว่าตัวแปรทุกค่าของทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ที่สัปดาห์ที่สามและสัปดาห์ที่แปดเมื่อ เปรียบเทียบกับก่อนการรักษา แต่ผลของตัวแปรทั้งสอง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสัปดาห์ที่สามและสัปดาห์ที่ แปดไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่าค่าตัวแปรทุกค่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05)
สรุปผล: เทคนิคแอคทีฟรีลีสแบบดัดแปลงและการนวด ไทยมีผลระยะสั้นและระยะยาวในการเพิ่มความสามารถในการทำงานของข้อไหล่และสะบัก และองศาการเคลื่อนไหวของคอและข้อไหล่ในผู้ป่วยกลุ่ม อาการสะบักจมไม่แตกต่างกัน
 
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2562, May-August ปีที่: 41 ฉบับที่ 2 หน้า 95-111
คำสำคัญ
Traditional Thai massage, Range of motion, Scapulocostal syndrome, modified active release technique, QuickDASH