ประสิทธิผลยาหม่องพริกต่อระดับความปวดระดับขีดเริ่มของอาการปวด และองศาการเคลื่อนไหวของคอในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนบนจากกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด
วิศรุต บุตรากาศ*, วาสนา เนตรวีระ, พัฒนสิน อารีอุดมวงศ์, สุจิตรา กล้วยหอมทอง, เพชรรัตน์ แก้วดวงดี, พีรนันท์ พัฒนามงคล
สาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
บทคัดย่อ
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด (Myofascial pain syndrome) เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อย การรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดด้วยยาทาที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพริกเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษามานาน แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ในการแสดงประสิทธิผลของการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสิทธิผลการรักษาด้วยยาหม่องพริกต่อระดับความรุนแรงของอาการปวด ระดับขีดเริ่มของอาการปวด และองศาการเคลื่อนไหวของคอในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนบนจากกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดโดยศึกษาในผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 50 ราย สุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาด้วยยาหม่องพริก อีกกลุ่มได้รับการรักษาด้วยยาหม่องพริกชนิดหลอก ทั้งสองกลุ่มต้องนอนพักบนเตียงเป็นเวลา 30 นาที จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตัวแปรที่ศึกษาคือ ระดับความรุนแรงของอาการปวด ระดับขีดเริ่มของอาการกด เจ็บ และองศาการเคลื่อนไหวของการก้มคอ ซึ่งจะวัดก่อนการรักษาและหลังการรักษาครั้งสุดท้าย ผลการศึกษาพบว่า ทั้งสองกลุ่มมีค่าระดับความรุนแรงของอาการปวด ระดับขีดเริ่มของอาการกดเจ็บ และองศาการเคลื่อนไหวของการก้มคอดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาหม่องพริก มีค่าระดับความรุนแรงของอาการปวดดีขึ้นมากกว่ากลุ่มยาหม่องพริกชนิดหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2562, May-August ปีที่: 17 ฉบับที่ 2 หน้า 228-238
คำสำคัญ
Pain relief, Myofascial pain syndrome, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด, การลดอาการปวด, chili balm, ยาหม่องพริก