การศึกษาประสิทธิภาพการระงับปวดหลังผ่าตัด Surgical Staging ในผู้ป่วยนรีเวชด้วยวิธีการทำา Bilateral TAP Block ในโรงพยาบาลอุดรธานี
สุจิตรา ตันทัดประเสริฐกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลอุดรธานี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิภาพ การระงับปวดด้วยวิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ที่ผนังหน้าท้องระหว่างชั้นกล้ามเนื้อทั้ง 2 มัด ทั้งซ้ายและขวา ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ (Bilateral TAP Block) ในผู้ป่วยนรีเวชที่มาผ่าตัด Surgical Staging, low midline incision
สถานที่ศึกษา: ห้องผ่าตัด 504 ตึกเชี่ยวชาญ โรงพยาบาลอุดรธานี
รูปแบบการศึกษา: Randomized Controlled Trial
วิธีการศึกษา: ศึกษาการระงับปวดด้วยวิธี Bilateral TAP Block under ultrasound guide หลังการผ่าตัดเพื่อแยกระยะของโรคมะเร็งลงแผลผ่าตัดกึ่งกลางด้านล่าง (Surgical Staging, low midline incision) ในผู้ป่วยนรีเวชในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 จำนวน 24 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มศึกษา (TAP) ที่ใช้วิธี Bilateral Tap Block และกลุ่มไม่ใช้ (no TAP) เป็นกลุ่มเปรียบเที่ยบ กลุ่มละ 12 ราย ติดตามเพื่อประเมินระดับความปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ชั่วโมงที่ 0, 15 นาทีหลังต่อ iv PCA, 1, 6, 12, 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด พร้อมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการใช้ยา morphine ทั้งหมด ที่ผู้ป่วยต้องการเสริมในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา morphine iv PCA และความพึงพอใจของผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานด้วยสถิติ Chi-square test และ วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้ t-test แสดงผลในรูปของค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 95% Confidence interval กำหนดให้ p-value <0.05 ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนภาวะแทรกซ้อนแสดงในรูปแบบจำนวนและร้อยละ ใช้สถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาและกลุ่มเปรียบเทียบมีลักษณะทั่วไป ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับความปวดหลังผ่าตัด ณ เวลาที่ 1, 6, 12, 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และเมื่อเริ่มเปลี่ยนอิริยาบถ กลุ่มศึกษามีระดับคะแนนความปวดน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับปริมาณการใช้ Morphine iv PCV ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด พบว่า กลุ่มศึกษาใช้ปริมาณมอร์ฟีนทั้งสิ้น เฉลี่ย 14.8 มก. (SD 12.5) หรือ 0.4±0.2 มก./กก. ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ใช้ปริมาณมอร์ฟีนทั้งสิ้น 52.8 มก. (SD 17.1) หรือ 1.0±0.5 มก./กก. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การระงับปวดด้วยวิธี Bilateral TAP Block under ultrasound guide หลังการผ่าตัด Surgical Staging, Low Midline Incision ในผู้ป่วยนรีเวช สามารถลดระดับความปวดได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2560, September-December
ปีที่: 25 ฉบับที่ 3 หน้า 249-258
คำสำคัญ
Bilateral TAP Block, post-operative pain assessment, surgical staging, ระดับความปวดหลังผ่าตัด