เปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารเคตามีนขนาดต่ำทางหลอดเลือดดำ อย่างต่อเนื่องกับการบริหารทางกล้ามเนื้อเป็นครั้งคราวตามเวลาเพื่อระงับปวดหลังผ่าตัดในผู้ป่วยโรคมะเร็งทางนรีเวช
ศรัญญา เลิศโกวิทย์, ภามณี สายเหมย, ผ่องศรี นวลมณี, ละมัยศิลป์ เหมะธุรินทร์, วัลยดา อินธิแสง, พงษ์ธารา วิจิตเวชไพศาล*
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: เคตามีนเป็นยาระงับความรู้สึกและมีฤทธิ์ช่วยระงับความปวดร่วมด้วย ช่วยให้ผู้ป่วยต้องการใช้ยากลุ่มมอร์ฟีนหลังการผ่าตัดลดลง บรรเทาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากมอร์ฟีนได้ แต่วิธีการบริหารยาที่แตกต่างกันอาจจะมีผลต่อการระงับปวดได้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเคตามีนขนาดต่ำต่อการระงับปวดหลังผ่าตัดระหว่างการบริหารยาทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องและการบริหารทางการเนื้อเป็นครั้งคราวตามเวลา ในระหว่างการผ่าตัด
วิธีการศึกษา: ศึกษาในผู้ป่วย 40 คนที่เข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งทางนรีเวช แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มบริหารยาทางหลอดเลือดดำ (IV) และทางกล้ามเนื้อ (IM) ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับเคตามีน 0.5 มก./กก. ทางหลอดเลือดดำในระหว่างนำสลบ จากนั้นกลุ่ม IV จะได้รับเคตามีน 0.25 มก./กก./ชม. อย่างต่อเนื่อง และกลุ่ม IM จะได้รับเคตามีน 1 มก./กก. ทุก 1 ชม. ทางกล้ามเนื้อเป็นครั้งคราวตามเวลา หลังผ่าตัดผู้ป่วยใช้เครื่องบริหารยาระงับปวดมอร์ฟีนด้วยตนเอง (PCA) บันทึกระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องการมอร์ฟีนครั้งแรกในห้องพักฟื้น ปริมาณมอร์ฟีนที่ใช้สะสมใน 48 ชม. และอาการข้างเคียงหลังการผ่าตัด
ผลการศึกษา: ระยะเวลาที่ต้องการมอร์ฟีนครั้งแรกของกลุ่ม IM มีแนวโน้มที่นานกว่ากลุ่ม IV (87.0+122.9 min vs 37.0+56.6 min, p= 0.173) แต่ปริมาณการใช้มอร์ฟีนสะสมภายในระยะเวลา 48 ชม. ไม่แตกต่างกัน ทั้งสองกลุ่มมีอาการขึ้นไส้อาเจียนไม่ต่างกัน และไม่พบอาการฝันร้ายหรือเห็นภาพหลอน ค่าเฉลี่ยความพอใจต่อวิธีการรักษาอยู่ในระดับสูงทั้งสองกลุ่ม
สรุป: การให้เคตามีนขนาดต่ำทางกล้ามเนื้อเป็นครั้งคราว ตามเวลาระหว่างการผ่าตัดได้ผลลังงับปวดหลังผ่าตัดไม่ต่างจากการให้ทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งทางนรีเวช
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2562, October-December ปีที่: 45 ฉบับที่ 4 หน้า 151-155
คำสำคัญ
anesthesia, postoperative pain, Ketamine, เคตามีน, ความปวดภายหลังการผ่าตัด, วิสัญญี