การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการปิดแผลด้วยเสื้อชั้นในที่ออกแบบให้มีแรงกดรัดกับการปิดแผลแบบดั้งเดิมในการป้องกันภาวะน้ำเหลืองคั่งภายหลังการตัดเต้านมในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม
วศิน โชติวานิช, วิศิษฐ์ เกษตรเสริมวิริยะ, ศุภกานต์ เตชะพงศธร*, สาธิต ศรีมันทยามาศ, อนันต์ มโนมัยพิบูลย์Department of Surgery, BMA Medical College and Vajira Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการปิดแผลด้วยเสื้อชั้นในที่ออกแบบให้มีแรงกดรัดที่แผลผ่าตัดแต่ไม่มีแรงกดรัดบริเวณรักแร้ในการป้องกันภาวะน้ำเหลืองคั่งภายหลังการตัดเต้านมในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เปรียบเทียบกับการปิดแผลแบบดั้งเดิม
รูปแบบการวิจัย : การวิจัยเชิงทดลองแบบ prospective, randomized controlled trial
กลุ่มตัวอย่าง : ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด modified radical mastectomy ในภาควิชาศัลยศาสตร์วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 จำนวน 56 ราย จำแนกเป็นกลุ่มที่ปิดแผลแบบปกติจำนวน 29 ราย และกลุ่มที่ปิดแผลด้วยการใส่เสื้อชั้นในที่ออกแบบให้มีแรงกดรัดจำนวน 27 ราย
วิธีดำเนินการวิจัย : ทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มหลังผ่าตัด โดยศัลยแพทย์ผู้ทำผ่าตัดและผู้ป่วย จะไม่ทราบมาก่อนว่าได้รับการปิดบาดแผลแบบใด โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมจะได้รับการปิดบาดแผลผ่าตัดแบบปกติ ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มทดลองได้รับการปิดแผลด้วยการใส่เสื้อชั้นในที่ออกแบบให้มีแรงกดรัด ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางคลินิก และข้อมูลตัววัดที่สำคัญนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่ม
ตัววัดที่สำคัญ : อัตราการเกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งภายหลังการตัดเต้านม, ปริมาณน้ำเหลืองที่ระบายออกหลังผ่าตัด, จำนวนวันที่พักในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
ผลการวิจัย : ข้อมูลทั่วไป และข้อมูลในระหว่างการผ่าตัดของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลลัพธ์หลังการผ่าตัดพบว่า ปริมาณน้ำเหลืองที่ระบายออกหลังผ่าตัด ระยะเวลาการพักรักษาในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด และภาวะน้ำเหลืองคั่งใต้แผลผ่าตัด ของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยในกลุ่มควบคุมเท่ากับ 725.0 + 511.6 มล., 9.3 + 5.4 วัน และ 4 รายใน 29 ราย ส่วนกลุ่มทดลองเท่ากับ 774.3 + 535.6 มล., 11.1 + 4.9 วัน และ 6 รายใน 27 ราย (p-value > 0.05)
สรุป : การปิดแผลผ่าตัดภายหลังการผ่าตัด modified radical mastectomy ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ด้วยเสื้อชั้นในที่ออกแบบให้มีแรงกดรัดที่แผลผ่าตัดแต่ไม่มีแรงกดรัดบริเวณรักแร้ ไม่สามารถลดปริมาณน้ำเหลืองที่ระบายออกหลังการผ่าตัด จำนวนวันที่ต้องใส่ท่อระบายหลังผ่าตัด และการเกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งใต้แผลผ่าตัดได้
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2550, May-August
ปีที่: 51 ฉบับที่ 2 หน้า 87-94
คำสำคัญ
Mastectomy, Compressible brassiere, Seroma prevention