การฉีดลิโดเคนความเข้มข้น 1% และ 2% เพื่อรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณคอและหลังส่วนบน: การทดลองทางคลินิก แบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมและปกปิดสองทาง
นิติพงษ์ ประพันธ์บัณฑิตกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิผลของการฉีดลิโดเคนระหว่างความเข้มข้นร้อยละ 1 และร้อยละ 2 ที่จุดกดเจ็บเพื่อบำบัดกลุ่มอาการปวดกามเนื้อและพังผืดบริเวณคอและส่วนหลัง
รูปแบบการวิจัย : การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมและมีการปกปิดสองทาง
สถานที่ทำการวิจัย : โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
กลุ่มประชากร : ผู้ป่วยที่มีปวดกามเนื้อคอและหลังส่วนบนระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
วิธีการศึกษา : ผู้ป่วย 30 รายได้รับการฉีดลิโดเคนความเข้มข้นร้อยละ 1 และอีก 31 ราย ด้วยลิโดเคนความเข้มข้นร้อยละ 2 เปรียบเทียบระดับความเจ็บปวด ขีดเริ่มความเจ็บปวดจากแรงกด อาการปวดระบมหลังการฉีดยา พิสัยการเคลื่อนไหวคอ และคุณภาพชีวิตก่อนและหลังการรักษา เปรียบเทียบความแตกต่างภายในกลุ่มก่อนหลังรักษาและระหว่างสองกลุ่ม
ผลการศึกษา : หลังการรักษาทันที, หลังการรักษา 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ ทั้งสองกลุ่มมีระดับความเจ็บปวดลดลง ขีดเริ่มเจ็บปวดจากแรงกด เพิ่มขึ้น รายพิสัยการเคลื่อนไหวข้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) แต่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม (p > 0.05) อาการปวดระบมหลังการฉีดยาไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม (p > 0.05) หลังรักษา 4 สัปดาห์ คะแนนคุณภาพชีวิตในมิติการทำงานด้านร่างกาย ข้อจำกัดจากปัญหาทางร่างกาย และความเจ็บปวดทางกาย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งสองกลุ่ม (p < 0.05) แต่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม (p > 0.05)
สรุป : ไม่พบหลักฐานว่าการฉีดลิโดเคนความเข้มข้นร้อยละ 2 เพื่อบรรเทากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณคอและหลังส่วนบน ให้ประสิทธิผลดีกว่าลิโดเคนความเข้มข้นร้อยละ 1 ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ลิโดเคนความเข้มข้นร้อยละ 1 ในการรักษาเนื่องจากมีความปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
ที่มา
ASEAN Rehabilitation Medicine ปี 2562, September-December
ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 99-106
คำสำคัญ
Lidocaine, ลิโดเคน, การฉีดยา, neck, injection, Myofascial pain syndrome, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด, upper back, คอ, บ่า