ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำานาจต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
จารวี คณิตาภิลักษณ์*, ทศพร คำผลศิริ, ลินจง โปธิบาล
โรงพยาบาลสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
บทคัดย่อ
โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดในผู้สูงอายุทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของร่างกาย  และอาจทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่มีพลังอำนาจในการควบคุมหรือจัดการกับการเจ็บป่วยและความพิการของตนเองได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้นเพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองดีขึ้นจึงต้องมีการเสริมสร้างพลังอำนาจในผู้สูงอายุกลุ่มนี้การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมองก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ และเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมองระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจกับกลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 88 ราย สุ่มโดยใช้การสุ่มแบบบล็อกเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 44 ราย ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับการวัดคุณภาพชีวิตโดยใช้ Stroke impact scale (SIS)โดยกลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจตามแนวคิดของกิบสัน (Gibson) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมเสริมสร้างพลังอำนาจ 4 ขั้นตอนได้แก่ 1. การค้นพบสภาพการณ์จริง 2. การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3. การตัดสินใจลงมือปฏิบัติ และ 4. การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และใช้สถิติทดสอบค่าที
ผลการศึกษาพบว่า
1.  คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองหลังได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจสูงกว่าก่อนการได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (p < .05)
2. คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (p < .05)
 
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2563, January-March ปีที่: 47 ฉบับที่ 1 หน้า 222-230
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, empowerment, การเสริมสร้างพลังอำนาจ, คุณภาพชี่วิต, Stroke in older person, ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง