การทดลองแบบสุ่มเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการระงับการปวด โดยวิธี ultrasound-guided lateral transversus abdominis plane block ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโรคนรีเวชทั่วไปผ่านทางหน้าท้อง
วชิรพร ภูริภูมิกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลสุรินทร์ สุรินทร์ 32000
บทคัดย่อ
บทนำ : ความเจ็บปวดภายหลังผ่าตัดยังเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะการผ่าตัดช่องท้องแบบเปิด จึงควรใช้การระงับปวดหลายรูปแบบผสมผสานกัน การฉีดยาระงับความรู้สึกบริเวณเส้นประสาทส่วนปลายด้วยเทคนิค ultrasound-guided lateral transversus abdominis plane block สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการฉีดยาด้วยเทคนิค lateral transversus abdominis plane block (TAPB) โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์นำทางในการระงับปวดหลังผ่าตัดช่องท้องโรคทางนรีเวชทั่วไป และลดปริมาณการใช้มอร์ฟีนระงับปวดหลังผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรก
วิธีการศึกษา : การศึกษาแบบ randomized single blinded study ในผู้ป่วยผ่าตัดช่องท้องโรคทางนรีเวชทั่วไปที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว ได้แก่การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดโรคเนื้องอกมดลูก การผ่าตัดรังไข่ ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ผู้ป่วย (กลุ่ม TAPB 35 ราย และกลุ่มควบคุม 35 ราย) ทำการสุ่มลำดับผู้ป่วยด้วยคอมพิวเตอร์ ปิดด้วยซองจดหมายปิดผนึก กลุ่ม TAPB จะได้รับการทำ ultrasound-guided TAPB ด้วย 0.25% bupivacaine ข้างละ 20 มล. หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จสิ้น ครอบคลุมได้รับการดูแลตามาก หลังผ่าตัดผู้ป่วยทุกรายจะได้ IV-PCA เพื่อระงับปวด ข้อมูลศึกษา ได้แก่ คะแนนความปวด Numeric Rating Scale (NRS) ขณะพักและขณะขยับตัว ผู้วิจัยบันทึกปริมาณยามอร์ฟีนที่ใช้และภาวะแทรกซ้อนที่ห้องพักฟื้นและตึกผู้ป่วย ณ เวลา 1, 2, 4, 6, 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
ผลการศึกษา : การทำ ultrasound-guided TAPB สามารถลดคะแนนความปวดได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ 1 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด (ขณะพัก 3.5 + 2.6 vs 5.1 + 2.4, P = 0.007, ขณะขยับตัว 4.2 + 2.8 vs 6.0 + 2.4, P=0.006) และที่ 4 ชั่วโมง (ขณะพัก 4.3 + 1.4 vs 5.5 + 1.6, P = 0.002, ขณะขยับตัว 5.2 + 1.6 vs 6.2 + 1.7, P=0.011) และสามารถลดการใช้มอร์ฟีนหลังผ่าตัด 4 ชั่วโมงแรกได้ (23.9 + 9.7 มก. vs 38.4 + 11.6 มก. P =<0.001)
สรุป : การระงับผู้ป่วยโดยวิธี ultrasound-guided lateral transversus abdominis plane block ด้วย 0.25% bupivacaine ข้างละ 20 มล. ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโรคนรีเวชทั่วไปผ่านทางหน้าท้อง สามารถลดคะแนนความเจ็บปวดและลดปริมาณการใช้มอร์ฟีนหลังผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปี 2563, January-April
ปีที่: 35 ฉบับที่ 1 หน้า 125-139
คำสำคัญ
มอร์ฟีน, ultrasound-guided transversus abdominis plane block, General gyncologic Surgery, Postoperative morphine consumptions, การผ่าตัดนรีเวช