ประสิทธิภาพของการให้ยา ketamine ร่วมกับยา propofol ในการระงับความรู้สึกผู้ป่วยที่มาส่องกล้องลำไส้ใหญ่
จันจิรา ควรรติกุล*, รำไพ ด้วงคำจันทร์, สุมามาลย์ บุตรไทยกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
บทคัดย่อ
บทนำ : การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นหัตถการที่ก่อให้เกิดอาการปวด อึดอัดแน่นท้องแก่ผู้ป่วยได้ การให้ยาระงับ ความรู้สึกจึงมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการให้ยา ketamine ร่วมกับ propofol เปรียบเทียบกับการให้ยา propofol อย่างเดียว ในการระงับความรู้สึกผู้ป่วยที่มาส่องกล้องลำไส้ใหญ่
วิธีดำเนินการวิจัย : ศึกษาแบบ prospective randomized double blinded controlled trial ในผู้ป่วย 90 คน ที่มา ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ในโรงพยาบาลมหาสารคาม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 45 คน ได้แก่ กลุ่ม ketamine(K) จะได้ยา ketamine 0.5 mg/kg และ propofol 1 mg/kg และ กลุ่ม normal saline(N)จะได้ normal saline และ propofol 1 mg/kg หลังจากนั้นทั้งสองกลุ่มจะได้ propofol infusion อย่างต่อเนื่อง บันทึกความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ปริมาณยา propofol ที่ใช้ อาการปวด ภาวะแทรกซ้อนทีเกิดขึ้น ความสะดวกในการใส่กล้อง endoscope ระยะเวลาฟื้นจากยา และความพึงพอใจของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ส่องกล้องต่อวิธีการ ให้ยาระงับความรู้สึกโดยเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบบันทึกทางวิสัญญีที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
ผลการวิจัย : พบการเกิดความดันเลือดต่ำและหัวใจเต้นช้าในกลุ่ม K ร้อยละ 13.3 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่ม N ที่พบร้อยละ 40 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.004) ใช้ปริมาณยา propofol ในกลุ่ม K 7.41±2.43 mg/kg/hr น้อยกว่าในกลุ่ม N ที่ใช้ 9.97±3.15 mg/kg/hr อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) recovery time ในกลุ่ม K เท่ากับ 10.91 นาที ซึ่งนาน กว่าในกลุ่ม N ที่เท่ากับ 7.22 นาที (p<0.001) แต่อย่างไรก็ตาม recovery score หลังจากส่องกล้องเสร็จ 30 นาที เท่ากับ 10 ในทั้งสองกลุ่ม แพทย์ผู้ส่องกล้องในกลุ่ม K มีความพึงพอใจมากกว่ากลุ่ม N อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.010) ส่วน ความพึงพอใจของผู้ป่วยไม่แตกต่างกัน (p=0.634) ไม่พบผู้ป่วยมีอาการปวดในกลุ่ม K และมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยในกลุ่ม N (p=0.080)
สรุป : การให้ ketamine ร่วมกับ propofol มีประสิทธิภาพดีในการระงับความรู้สึกผู้ป่วยที่มาส่องกล้องลำไส้ใหญ่ สามารถควบคุมระบบไหลเวียนเลือดให้คงที่ได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ propofol เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังลด ปริมาณการใช้ propofol ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้ป่วย ปลอดภัย แพทย์ผู้ส่องกล้องและผู้ป่วยพึงพอใจ
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี 2560, May-August
ปีที่: 14 ฉบับที่ 3 หน้า 20-29
คำสำคัญ
Propofol, Ketamine, Colonoscopy, Sedation