ผลของการดูแลที่บ้านโดยทีมสหสาขาวิชาชีพต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียง
อมรรัตน์ ปะติเก*, ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง, จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป, ศิรินาถ ตงศิริ
สาขาเภสัชกรรมคลินิก คณเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียงที่บ้านโดยทีมสหสาขาวิชาชีพต่อปัญหาสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย วิธีการ: แบบของการวิจัย คือ การศึกษาแบบทดลองที่ประเมินผลก่อนและหลังการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านที่ติดบ้าน 18 รายและติดเตียง 9 รายโดยการเยี่ยมบ้านของทีมสหสาขาวิชาชีพ จำนวน 3 ครั้งใน 6 เดือน การดูแลผู้ป่วยเริ่มด้วยการค้นหาปัญหาสุขภาพผู้ป่วย ประเมินปัญหาเบื้องต้นทั้งด้านกายภาพและการใช้ยา และแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างทีม และครอบครัวของผู้ป่วย ผลลัพธ์ที่ประเมิน คือ คุณภาพชีวิต ปัญหาจากยา (drug related problems: DRPs) ความร่วมมือในการใช้ยา ผลลัพธ์ทางคลินิกของโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไต ภาวะซึมเศร้า การเคลื่อนไหว ภาวะแทรกซ้อนจาก การติดเตียง และความพึงพอใจของผู้รับบริการ การเก็บข้อมูลใช้แบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่อิงเกณฑ์ของ องค์การอนามัยโลก แบบสัมภาษณ์ความร่วมมือในการใช้ยา (Brief Medication Questionnaires; BMQ) การนับเม็ดยา แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า (9Q) แบบประเมินการเคลื่อนไหว (Modified Barthel Index) แบบประเมินความเสี่ยงการเกิดแผลกดทับ (Braden’s score) แบบวัดคุณภาพชีวิต EQ-5D-5L-VAS และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการ ผลการวิจัย: ก่อนการวิจัยในกลุ่มติดบ้านพบ DRP ในผู้ป่วย 8 คนจากทั้งหมด 18 คน และในกลุ่มติดเตียงพบ DRP ในผู้ป่วย 6 คน จากทั้งหมด 9 คน การแทรกแซงสามารถขจัด DRP หมดไปได้ในผู้ป่วยทุกคน จำนวนผู้ที่ร่วมมือในการใช้ยาเพิ่มในกลุ่มติดบ้านจาก 6 คน เป็น 17 คน (p<0.001) และในกลุ่มติดเตียงเพิ่มจาก 4 คน เป็น 9 คน (p=0.031) การแทรกแซงทำให้ผลลัพธ์ทางคลินิกเข้าเกณฑ์ มาตรฐานเพิ่มขึ้นโดยในกลุ่มติดบ้านเพิ่มจาก 5 คน เป็น 18 คน (p<0.001) และในกลุ่มติดเตียงจาก 8 คน เป็น 9 คน (p= 0.347) ตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้าลดลง โดยในกลุ่มติดบ้านลดลงจาก 10 คน เป็น 3 คน (p<0.001) และในกลุ่มติดเตียงลดลงจาก 9 คน เป็น 6 คน (p=0.091) ผู้ป่วยกลุ่มติดเตียงมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเตียงลดลงจาก 9 คนเป็น 4 คน (p=0.059) หลังจาก การแทรกแซง คุณภาพชีวิตของตัวอย่างเพิ่มขึ้น 0.08 (p<0.001) ในกลุ่มติดบ้าน และ 0.05 (p<0.001) ในกลุ่มติดเตียง ความพึงพอใจต่อการดูแลของทีมสหสาขาวิชาชีพเพิ่มขึ้น 0.63  (p<0.001) ในกลุ่มติดบ้าน และ 0.50 (p<0.001) ในกลุ่มติดเตียง Bathel index เพิ่มขึ้น 3.05 (p<0.001) ในกลุ่มติดบ้าน และ 1.67 (p<0.001) ในกลุ่มติดเตียง ภาวะซึมเศร้าลดลง 1.66 (P<0.001) ในกลุ่ม ติดบ้าน และ 3.44 (P<0.001) ในกลุ่มติดเตียง สรุป: การดูแลสุขภาพผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ DRPs และภาวะซึมเศร้าลดลง ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเตียงมีแนวโน้มลดลงในกลุ่มติดเตียง ผู้ป่วยมีความร่วมมือในการใช้ยา มีผลลัพธ์ทางคลินิกเข้าเกณฑ์มาตรฐาน การเคลื่อนไหว คุณภาพชีวิต และความพึงพอใจต่อการดูแลมากขึ้น ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้การเยี่ยมบ้านดังกล่าว เป็นนโยบายและควรเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในด้านอื่นๆ ต่อไป
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2562, October-December ปีที่: 11 ฉบับที่ 4 หน้า 860-868
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, elderly, ผู้สูงอายุ, Multidisciplinary team, ทีมสหสาขาวิชาชีพ, คุณภาพชี่วิต, home care, การดูแลที่บ้าน, home-bound patients, bed-bound patients, ผู้ป่วยติดเตียง, ผู้ป่วยติดบ้าน