ผลของโปรแกรมการบริหาร ท้อง หัวไหล่ และการหายใจอย่างมีแบบแผนในผู้ป่วยท้องอืดและปวดหัวไหล่หลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้อง
พรฤดี นราสงค์, ลดาวัลย์ กาศเจริญ, ไข่มุก รุจิเศรษฐกุล, ภาวิณี ปิยบุญศรี, ภัคพล สุขวิบูลย์, ประเวชย์ มหาวิทิตวงศ์*
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบอาการท้องอืด ปวดหัวไหล่ คุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดและความพึงพอใจของผู้ป่วย ภายหลัง ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้องระหว่างกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลแบบปกติ กับกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการบริหาร ร่างกายอย่างมีแบบแผน
วิธีการศึกษา :  กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้อง สุ่มเข้ากลุ่มควบคุม 60 คนได้รับการ พยาบาลแบบปกติ และกลุ่มทดลอง 60 คนได้รับโปรแกรมการบริหารร่างกายอย่างมีแบบแผน โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วน บุคคล แบบบันทึกอาการท้องอืด อาการปวดหัวไหล่และแบบประเมินคุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (QoR-40) วิเคราะห์ข้อมูลโดย ใช้สถิติพรรณนา ไคร์สแควร์ และแมนวิทนีย์ ยู และการวัดซ้ำข้อมูล
ผลการศึกษา : หลังผ่าตัดวันที่1 (ชั่วโมงที่20 หลังผ่าตัด) กลุ่มทดลองมีอาการท้องอืดปานกลาง-มาก 53 ราย (88.3%) กลุ่มควบคุมมี 54 ราย (90.0%) พบว่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่เมื่อมีการวัดซ้ำข้อมูลพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนท้องอืดเฉลี่ย 12 คะแนน กลุ่มควบคุมมี 12.98 คะแนน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.016, 95%CI:0.19-1.77) กลุ่มทดลองมี คุณภาพการฟื้นตัวหลังผ่าตัดด้านสภาวะอารมณ์และการสนับสนุนด้านจิตใจสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.022, 0.042 ตามลำดับ) แต่อาการปวดหัวไหล่และความพึงพอใจของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันในทางสถิติ  ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ไม่พบ ภาวะแทรกซ้อนและการบาดเจ็บจากโปรแกรมบริหารร่างกาย
สรุป :  โปรแกรมการบริหารร่างกายลดอาการท้องอืดได้ แพทย์และพยาบาลสามารถนำโปรแกรมมาใช้กับผู้ป่วยที่ผ่าตัดนิ่ว ในถุงน้ำดีโดยวิธีส่องกล้องได้
 
ที่มา
Siriraj Medical Bulletin ปี 2563, January-March ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 11-20
คำสำคัญ
Laparoscopic cholecystectomy, นิ่วในถุงน้ำดี, ผ่าตัด, หลังผ่าตัด, การฟื้นตัว, abdominal distension, shoulders pain, quality of recovery, ส่องกล้อง, ท้องอืด, ปวดหัวไหล่